Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (2) ศึกษาสภาพและความต้องการของผู้ใช้โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และ (3) นำเสนอรูปแบบและโครงสร้างของโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ในวงการศึกษา กลุ่มตัวอย่างได้แก่ (1) โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจำนวน 6 โปรแกรม คือ โปรแกรม Authorware โปรแกรม ToolBook โปรแกรม HyperCard โปรแกรมจุฬาซีเอไอ โปรแกรมไทยโชว์ และโปรแกรมไทยทัศน์ และ (2) ครูอาจารย์ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา จำนวน 162 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพและความต้องการของผู้ใช้โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และแบบวิเคราะห์โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 4 ลักษณะ ได้แก่ (1) ลักษณะทั่วไปด้านการใช้งานร่วมกับฮาร์ดแวร์ (2) ลักษณะการใช้สร้างบทเรียน : ด้านตัวอักษร ด้านการสร้างภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และงานกราฟิก ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ ด้านการประเมินผล (3) ลักษณะการติดต่อกับผู้ใช้ และ (4) ลักษณะการออกแบบโครงสร้างการใช้งาน ผู้วิจัยนำข้อมูลจากการวิเคราะห์โปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและข้อมูลจากการศึกษาสภาพแบะความต้องการของผู้ใช้โปรแกรมรวมทั้งแนวคิด ทฤษฏี แบะงานวิจัยใช้ ออกแบบรูปแบบและโครงสร้างของโปรแกรมช่วยสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สรุปได้ดังนี้ ลักษณะทั่วไปด้านการใช้ง่านร่วมกับฮาร์ดแวร์ : โปรแกรมควรพัฒนาขึ้นภายใต้ระบบวินโดวส์ ควรมีการพัฒนาโปรแกรม 2 ขนาด คือ โปรแกรมขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ มีโปรแกรมขนาดเล็กควรจะสามารถบรรจุในแผ่นดิสก์ 1 แผ่นได้ ลักษณะการใช้สร้างบทเรียน : ด้านตัวอักษร ควรมีความสามารถพิเศษในการพิพม์เลขยกกำลัง เศษส่วนและห้อยท้าย และมีการปรับแก้ตัวพิมพ์ได้สะดวก ด้านการสร้างภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และงานกราฟิก ควรมีกล่องเครื่องมือในการสร้างงาน สามารถปรับแก้ไข กำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ ความเร็วและรูปแบบการสร้างและลบชิ้นงานได้สะดวก และควรสนับสนุนการใช้แฟ้มข้อมูลกราฟิกจากโปรแกรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการมีปฏิสัมพันธ์ควรมีรูปแบบต่าง ๆ สามารถบันทึก กำหนดเงื่อนไข วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลนำเข้า ด้านการประเมินผล ควรมีการประเมินผลแบบทดสอบ และรายงานผลได้หลายลักษณะ ลักษณะการติดต่อกับผู้ใช้ : ควรเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สั่งการได้หลายรูปแบบ ลักษณะการออกแบบโครงสร้างการใช้งาน : ใช้รูปแบบที่ง่ายสำหรับการสั่งการขั้นพื้นฐาน แก้ไขและทดสอบการทำงานของโปรแกรมได้สะดวก สามารถทำงานร่วมกับแฟ้มข้อมูลจากโปรแกรมอื่น มีโปรแกรมสาธิต รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ มีโปรแกรมย่อยสนับสนุนการออกแบบบทเรียนประเภทต่าง ๆ