Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาว่าแนวความคิดทางกฎหมายมหาชนในประเทศไทย ว่าด้วยอำนาจรัฐ ตั้งแต่ พุทธศักราช 2521 ถึง พุทธศักราช 2539 เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ในฐานะที่ประเทศไทยนำเสนอว่าเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย โดยศึกษาจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกติการหลักในการปกครองประเทศ และพิจารณาสภาพความเป็นจริงทางการเมืองและสังคมประกอบ จากการศึกษาพบว่ารัฐไทยที่มีอำนาจมาก เนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยม ทั้งนี้เป็นเพราะในสังคมการเมืองไทย ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเมืองปกครองมาตั้งแต่ต้น แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ 2475 ประชาสังคมก็ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มบุคคลซึ่งเป็นชนชั้นนำผูกขาดการใช้อำนาจของรัฐมาโดยตลอด ทั้งนี้ สามารถพิจารณาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 - พ.ศ 2516 ได้แก่ ชนชั้นนำในระบบราชการ และตั้งแต่ พ.ศ 2516 - พ.ศ 2539 ได้แก่ ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐภายใต้ระบบการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นตามกระแสโลกที่ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีนิยม รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายในการจัดระเบียบอำนาจสูงสุดแห่งรัฐและเป็นหลักในการปกครองประเทศ ถูกใช้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยที่รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับของไทย ผู้ปกครองเท่านั้นที่เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไทยจึงเป็นเพียงเทคนิคทางกฏหมายของผู้มีอำนาจในรัฐเพื่อใช้ปกครองประเทศมากกว่าจะเป็นกติกาที่สังคมทั้งสังคมให้การยอมรับ รัฐธรรมนูญไทยไม่มีลักษณะเป็นภาพสะท้องและผลของอุดมการณ์เชิงปรัชญาแบบประชาธิปไตยและเสรีนิยม ด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดแนวความคิดในการปฏิรูปการเมืองขึ้นในปี พ.ศ 2535 เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองมากยิ่งขึ้น อันเป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการใช้อำนาจของรัฐต้องได้รับการตรวจสอบ โดยเพิ่มกลไกการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกๆด้าน