Abstract:
การศึกษาการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานในเขตเทศบาลนครยะลา สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน โดยการสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยจักรยานมากขึ้น จากการทดทวนแผน นโยบาย ตลอดจนแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ นั้น พบว่าการเสนอโครงข่ายทางจักรยาน และสิ่งอำนวยสะดวก ตลอดจนมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ นั้น ลักษณะโครงข่ายต้องสอดคล้องกับรูปแบบการเดินทางอื่น ๆ ของประชาชนโดยทั่วไป ความต้องการและรูปแบบการเดินทางด้วยจักรยานในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต มาตรฐานที่ดีของการออกแบบเส้นทางจักรยานในหลักการสากล ลักษณะทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมของพื้นที่ที่ส่งผลต่อรูปแบบการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ศึกษา รวมทั้งความคิดเห็นและนโยบายต่าง ๆ ของผู้บริหาร การที่เทศบาลนครยะลาเป็นที่ราบ รวมทั้งมีรูปแบบโครงข่ายถนนเป็นลักษณะผสมระหว่างแบบตารางหมากรุกและแบบรัศมีนั้น ส่งผลให้ประชาชนมีเส้นทางเลือกในการเดินทาง เหมาะแก่การพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานเป็นอย่างยิ่ง ผลจากการสำรวจภาคสนามพบกว่า แหล่งกำเนิดการเดินทางอยู่บริเวณถนนพิพิธภักดี ถนนผังเมือง 4 และถนนสิโรรส ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยหนาแน่น และส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะสั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อของและออกกำลังกาย ยานพาหนะที่นิยมคือ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถจักรยาน ซึ่งพบว่าใช้มากในกลุ่มของนักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้มีรายได้น้อย การศึกษาได้เสนอสองทางเลือกของโครงข่ายทางจักรยานที่ล้วนสอดคล้องกับปัจจัย ต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ข้างต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ศักยภาพการฝังตัวของโครงข่ายทางจักรยานภายในโครงข่ายคมนาคมโดยรวมของเมืองด้วยเทคนิควิธี Space Syntax ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า โครงข่ายทางจักรยานที่วางตัวคู่กับถนนสายรองและสายย่อยเพื่อความปลอดภัย โดยการหลีกเลี่ยงการซ้อนทับกับถนนหลักที่มีการจราจรหนาแน่นนั้น กลับมีค่าระดับการฝังตัวที่ดีกว่า และเป็นโครงข่ายที่ผู้เดินทางสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าโครงข่ายทางเลือกที่วางตัวควบคู่ไปกับถนนสายหลัก ผลการศึกษาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การวางแผนโครงข่ายทางจักรยานนั้นไม่จำเป็นต้องสร้างเส้นทางที่ซ้อนทับอยู่กับถนนสายหลักของเมืองเสมอไป ทั้งนี้ เพราะประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงจุดหมายปลายทางต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับศักยภาพการฝังตัวของโครงข่ายเส้นทางทั้งหมดในภาพรวม นอกจากนี้ การศึกษายังเสนอแผนงานพัฒนาโครงข่ายเส้นทางจักรยานในเทศบาลนครยะลา 3 ระยะ ควบคู่ไปกับการเสนอมาตรการสนับสนุนการใช้จักรยานต่าง ๆ เช่น การรณรงค์ การสร้างที่จอดและสิ่งอำนวยความสะดวก การประเมินผลการเดินทาง การสนับสนุนนโยบายด้านการคมนาคมและด้านการผังเมือง