Abstract:
การวิจัยวิธีการฝึกหัดซอสามสาย กรณีศึกษา : ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี เอตทักคะทางการสีซอสามสาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการฝึกหัดซอสามสายอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการศึกษาบริบทแวดล้อมได้แก่ ความเป็นมาและลักษระทางกายภาพของซอสามสาย การบำรุงรักษาซอสามสายและศึกษาวิธีการฝึกหัดซอสามสาย ผลการวิจัยพบว่าซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย มีคันทวนยาวเจาะผ่านกล่องเสียง และมีปลายเท้ายื่นต่อจากกล่องเสียง ลักษณะของซอสามสายจึงจัดอยู่ในตระกูล spike fiddle โดยมีต้นกำเนิดจากอาหรับ ลักษณะของซอสามสายคล้ายเครื่องดนตรีในแถบเอเชีย แต่มีลักษณะที่โดดเด่นกว่าชาติอื่นในเรื่องความสวยงาม ความซับซ้อนและความพอถีพิถันในการสร้างซอสามสาย ผู้วิจัยได้ประมวลการฝึกหัดซอสามสายกับ ครูเฉลิมม่วงแพรศรี ตั้งแต่ระดับการเตรียมพร้อมคือ ท่านั่ง การจับซอ การลงนิ้ว การใช้คันชัก การบำรุงรักษาซอสามสายเช่น การใส่สายการพันรัดอก การทำถ่วงหน้า และการทำหนวดพราหมณ์ จากนั้นเริ่มฝึกโดยใช้แบบฝึกหัด การต่อเพลงทำนองสั้นเพื่อเรียนรู้การสีเพลงที่ไม่ซับซ้อน จากนั้นต่อเพลงที่มีความยาวมากขึ้นตามลักษณะหน้าที่ของซอสามสาย วิธีการบรรเลงมีลักษณะการบรรเลงแบบกรอ เป็นลักษณะที่เหมาะสมกับซอสามสาย สลับกับการบรรเลงในแบบเก็บ การบรรเลงเพลงดำเนินทำนองที่มีวิธีการบรรเลงแบบเก็บ จึงต้องศึกษาวิธีการแปรทางของซอสามสาย การศึกษาวิธีการคลอร้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ฝึกหัดซอสามสาย ลักษณะการคลอร้องของครูเฉลิม ม่วงแพรศรี เป็นการคลอร้องที่ประสงค์ให้ผู้สีซอสามสายและผุ้ร้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยให้ความสำคัญกับการร้องเป็นสำคัญ จากการศึกษาวิธีการฝึกหัดซอสามสาย มีรูปแบบวิธีการสอนที่ผสมผสานระหว่างการสอนแบบมุขปาฐะ และการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการฝึกหัดซอสามสายและสามารถปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย และถ่ายทอดให้กับผู้เรียนรุ่นหลังได้อย่างถูกต้อง