Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาลภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อทำการพิสูจน์ว่าดุลยภาพใหม่ระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยใช้รูปแบบวิธีการศึกษาตามแนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการศึกษา พบว่า ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ก่อให้เกิดดุลยอำนาจใหม่ระหว่างวุฒิสภากับรัฐบาล กล่าวคือ เป็นการสร้างกลไกอำนาจที่เปิดช่องทางและแหล่งอำนาจให้วุฒิสภาสามารถควบคุมและต่อรองอำนาจกับรัฐบาลได้ ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดให้วุฒิสภามีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดจนการเลือก แต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นอำนาจที่มีนัยยะสำคัญต่อการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจเหนือกว่าวุฒิสภาอย่างเบ็ดเสร็จดังเช่นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในอดีต ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้วุฒิสภามีสามาชิกที่ได้รับการสนับสนุนหรือเป็นตัวแทนจากกลุ่มการเมืองที่มีความแตกต่างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ เช่น การเป็นเครือญาติและการอยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับนักการเมือง โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลในรัฐบาลซึ่งมีพัฒนาการในการขยายเครือข่ายมากยิ่งขึ้น ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่วุฒิสภามาจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายในขณะที่รัฐบาลมาจากการจัดตั้งของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ทำให้กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กับรัฐบาลกลายเป็นกลุ่มพลังหลักที่มีบทบาทนำและสามารถกำหนดทิศทางการตัดสินใจในการลงมติของวุฒิสภาได้อย่างชัดเจน ตามที่ปรากฏในการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา การจัดสรรตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา การเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมไปถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ จึงทำให้การทำหน้าที่และการแสดงบทบาทของวุฒิสภาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเป้าหมายของการปฏิรูปการเมือง