Abstract:
ในปัจจุบันมีการใช้สารเคมีสำหรับกำจัดวัชพืชกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์และส่งผล เสียต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีการทดแทนด้วยสารจากธรรมชาติเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น อีเอ็มจากหน่อกล้วย มีคุณสมบัติในการกำจัดวัชพืช ซึ่งในอีเอ็มจากหน่อกล้วยมีจุลินทรีย์ที่สำคัญสำหรับกำจัดวัชพืช คือ แบคทีเรีย สังเคราะห์แสง (Photosynthetic bacteria) ที่ผลิตสาร ALA ปริมาณสูง และ Phytotoxin ของแอคติโนมัยซีท (Actinomycete) เพื่อให้จุลินทรีย์จากหน่อกล้วยมีชีวิตและมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์จึงทำการห่อหุ้มเชื้อ จุลินทรีย์จากหน่อกล้วยด้วยแอลจิเนต ซึ่งแอลจิเนตเป็นสารที่นิยมใช้ในการห่อหุ้มสารอื่นๆ เช่น ยา อาหาร หรือ แบคทีเรีย เนื่องจากแอลจิเนตเป็นพอลิแซคคาไรด์ที่ได้จากธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีราคาถูก ไม่มีพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นพรีไบโอติกซึ่งเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ ในงานวิจัยนี้ได้ทำการ ทดสอบเชื้อจุลินทรีย์ในอีเอ็มจากหน่อกล้วยและหาอัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับขึ้นรูปบีดอีเอ็ม พบว่า บีดที่ เตรียมจากแอลจิเนต 2% และ 1.8% โดยมวลต่อปริมาตร เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมจึงนำบีดทั้ง 2 ไปคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การปลดปล่อย พบว่าบีดอีเอ็ม 2% และ 1.8% มีเปอร์เซ็นต์การปลดปล่อยสูงสุดที่ 62% และ 61.8% ตามลำดับ ที่ระยะเวลา 8-10 วัน จากนั้นทำการทดสอบการออกฤทธิ์กับวัชพืช พบว่า บีดอีเอ็มจากการเตรียมด้วยแอลจิเนต 2% มีความสามารถในการควบคุมวัชพืชได้ดีกว่า 1.8% และงานวิจัยนี้ ยังได้ศึกษาการทำให้บีดแห้งด้วยอากาศกับการทำให้แห้งด้วยเครื่องทำแห้งด้วยลมร้อน (Fluid bed dryer) พบว่า การทำให้แห้งด้วยเครื่องทำแห้งด้วยลมร้อนไม่ทำลายเชื้อจุลินทรีย์จากหน่อกล้วยอีกทั้งยังทำให้บีดแห้ง เร็วกว่าอากาศถึง 22 เท่า