Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาเงื่อนไขที่กำหนดขอบเขตความหมายของสิทธิมนุษยชนในบริบทปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยวาทกรรมของมิเชล ฟูโกต์ ผลจากการศึกษาและตีความพบว่าเทคนิคของอำนาจใด้เข้ามามีส่วนในการก่อร่าง, ทำการผลิตแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนใน 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้ 1. อำนาจได้เข้ามาเชื่อมต่อ ร้อยเรียงชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ซึ่งแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ไม่ต่อเนื่องให้กลายเป็นความรู้ที่ได้รับการรองรับความถูกต้องและมีอำนาจในการแถลงความหมาย โดยการอ้างอิงกับรากฐานเชิงเหตุผลนิยมซึ่งสนับสนุนการมีอยู่ของสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง เช่น การอ้างสิทธิตามธรรมชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. อำนาจได้เข้ามาจัดประเภทสิทธิมนุษยชนและสร้างความชอบธรรมให้กับสิทธิบางประเภท ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้หลักฐานอ้างอิงของสิทธิชุดนั้นสามารถทำการผูกขาดหรือเถลิงอำนาจในการอธิบายได้อย่างชอบธรรมโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เช่น การแบ่งแยกว่าสิทธิที่มีความเป็นสากลสามารถปฏิบัติได้จริงโดยมีกฎหมายบังคับหรือรับรอง และมีความ สำคัญอย่างยิ่งอย่างเช่นสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองเท่านั้นที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง สิทธิทางเศรษฐกิจและลังคมซึ่งไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงการเรียกร้องตามความปรารถนา จึงไม่อาจดำรงสถานะแห่งสิทธิที่เท่าเทียมกันได้ 3. ในขณะที่อำนาจทำการกีดกันความรู้บางประเภทออกจากระบอบของความจริงอำนาจก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยให้คนชายขอบสามารถผลิตวาทกรรมในระดับรากหญ้าหรือท้องถิ่นตอบโต้กับวาทกรรมกระแสหลักที่เถลิงอำนาจอยู่ด้วยเช่นกัน การต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคหลังสมัยใหม่ที่มีต่อระบบทุนนิยมเสรี และแนวคิดสิทธิชุมชนคือหลักฐานยืนยันแนวโน้มปัจจุบันของอำนาจที่ปรากฏในรูปของกระบวนการปลดปล่อยความรู้ที่ถูกปิดกั้น