Abstract:
การศึกษาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการวางแผนและจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษารูปแบบและระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกรูปแบบการมีส่วนร่วม ตลอดจนผลสำเร็จของการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2544-2547 ผู้วิจัยได้คัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเป็นกรณีศึกษารวมจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อบต.บางพระ จังหวัดฉะเชิงเทรา อบต.ห้วยกะปิ จังหวัดชลบุรี เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เทศบาลเมืองท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อบจ.ปราจีนบุรี และ อบจ.แพร่ และได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสำรวจข้อมูลจากเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 ผลจากการศึกษา พบว่า 1) รูปแบบการมีส่วนร่วมมี 5 รูปแบบ เรียงจากระดับพื้นฐานถึงสูงสุด ได้แก่ การจัดทำเอกสารชี้แจงงบประมาณท้องถิ่น การสำรวจความคิดเห็น/ความต้องการของประชาชน การจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน การจัดทำประชาคม และการประชุมสภาเมือง 2) ระดับการมีส่วนร่วมมี 5 ระดับ เรียงจากระดับพื้นฐานถึงสูงสุด ได้แก่ การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน การสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน การทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชน/การสำรวจความต้องการจากประชาชน การปรึกษาหารือประชาชน และการเปิดโอกาส/ให้ประชาชนเลือกทางเลือกเชิงนโยบาย รูปแบบและระดับการมีส่วนร่วมมีความเชื่อมโยงกันทั้งใน 2 ลักษณะ คือ แต่ละรูปแบบมีหลายระดับ และแต่ละระดับมีหลายรูปแบบ รูปแบบการมีส่วนร่วมที่พบในกรณีศึกษามากที่สุดและมีความเข้มข้นมากที่สุด คือ รูปแบบการจัดทำประชาคม และ อบต.ห้วยกะปิ เลือกใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมหลากหลายที่สุด รูปแบบการมีส่วนร่วมมีลักษณะเฉพาะในบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย ขณะที่ระดับการมีส่วนร่วมมีความเป็นสากล 3) ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุดคือประเด็นปัญหา/วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมฯ ส่วนปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่นำมาวิเคราะห์ในการศึกษานี้ไม่มีผลอย่างสำคัญต่อการเลือกใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนแต่อย่างใด และ 4) ผลสำเร็จของการส่วนร่วมมีผลอย่างชัดเจนต่อความพึงพอใจของประชาชนต่อการปฏิบัติงาน ต่อคุณภาพการจัดบริการสาธารณะของกรณีศึกษาตลอดจนต่อความร่วมมือในการจ่ายภาษีประชาชน