Abstract:
กองทัพบก เป็นหน่วยงานราชการทางทหารที่มีพื้นที่ในความรับผิดชอบทั่วประเทศไทย โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีสิ่งก่อสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทัพบกให้กรมยุทธโยธาทหารบก (หน่วยงานออกแบบและก่อสร้าง) ดูแลงบประมาณและจัดสรรงานก่อสร้างดังกล่าว อีกทั้งเป็นหน่วยงานกลางที่มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบทั้งวงจรของงานสถาปัตยกรรม โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานมีหลายประการ เช่น เกิดความล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการและปีงบประมาณ, ปริมาณงานคั่งค้าง, งานเกิดข้อผิดพลาด, ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งการปฏิบัติวิชาชีพในหน่วยงาน ซึ่งงานด้านการออกแบบจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการบริหารจัดการที่มีรูปแบบเฉพาะและเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการวางแนวทางการพัฒนาและเพื่อทำให้หน่วยงานดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับนโยบายของกองทัพบกได้อย่างเต็มความสามารถ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบาย กฎระเบียบ โครงสร้างองค์กร และวิธีการดำเนินงานของกรมยุทธโยธาทหารบก โดยเฉพาะกองแบบแผน เพื่อทราบถึงการบริหารจัดการด้านการออกแบบ, ขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อเท็จจริงและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการดำเนินงาน การบริหารจัดการของกองแบบแผน กรมยุทธโยธาทหารบกต่อไป วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 แหล่งข้อมูล คือการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและปัญหาของกองแบบแผน กรมยุทธโยธาทหารบก โดยการแจกแบบสอบถามกำลังพลภายในกองแบบแผน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) นายทหารชั้นสัญญาบัตร 2) นายทหารชั้นประทวน 3) พนักงานราชการและอื่น ๆ และการศึกษาหน่วยงานออกแบบและก่อสร้างทางทหารภายในกระทรวงกลาโหม โดยการใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง สัมภาษณ์ผู้อำนวยการกองที่รับผิดชอบด้านงานออกแบบของ 5 หน่วยงาน คือ 1) สำนักโยธาธิการกลาโหม: สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 2) สำนักงานยุทธโยธาทหาร กรมยุทธบริการทหาร: กองบัญชาการทหารสูงสุด 3) กรมยุทธโยธาทหารบก: กองทัพบก 4) กรมช่างโยธาทหารเรือ: กองทัพเรือ 5) กรมช่างโยธาทหารอากาศ กองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ: กองทัพอากาศ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ โดยศึกษาทั้งปัจจัยภายใน ได้แก่ นโยบายและการวางแผน โครงสร้างองค์กร บุคลากร ระบบการทำงาน และปัจจัยภายนอก ได้แก่ การปฏิบัติวิชาชีพ กฎระเบียบ บุคลากรภายนอกกองแบบแผน และนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเชิงบรรยาย ผลการวิจัยจากปัจจัยภายในกองแบบแผนพบว่าไม่มีการวางนโยบายและแผนการทำงาน, การจัดโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะแผนกสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมไม่สามารถตอบสนองต่อการปฏิบัติงาน, ขาดแคลนบุคลากรบางสาขาวิชารวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงาน, ระบบการทำงานไม่เหมาะสมและไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน, ขาดวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการทำงานด้านการออกแบบ และปัจจัยภายนอกพบปัญหาในการปฏิบัติวิชาชีพทั้งสถาปนิกและวิศวกรไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดชนิดและขนาดงานควบคุมในแต่ละสาขา, กฎระเบียบที่ออกมาส่วนใหญ่ไม่ส่งเสริมต่อการทำงาน รวมทั้งบุคลากรทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจการทำงานด้านการออกแบบอย่างชัดเจน จึงสรุปได้ว่ากองแบบแผนจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาโดยการปรับโครงสร้างองค์กร บุคลากร และภารกิจหน้าที่ในบางแผนก รวมทั้งการสร้างมาตรฐานการทำงานด้านการออกแบบ และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการให้อยู่ในแนวทางที่เหมาะสมกับทั้งองค์กรด้านการออกแบบและองค์กรระบบราชการทหารที่จะต้องดำเนินงานไปด้วยกันภายในหน่วยงานนี้ ซึ่งขึ้นอยู่การทำงานของกำลังพลทุกระดับชั้น รวมถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ควรมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ก้าวทันต่อการพัฒนาทางสายงานด้านนี้ รวมทั้งสามารถพัฒนาหน่วยงานให้เทียบเท่ากับหน่วยงานภายเอกชน ดังนั้นกรมยุทธโยธาทหารบก ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการบริหารจัดการงานด้านการออกแบบควบคู่ไปกับการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ เพื่อให้หน่วยงานสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานออกแบบและก่อสร้างทางทหารภายในกระทรวงกลาโหมอื่น ๆ อีกด้วย