Abstract:
จุดประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาถึงกระบวนการในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมของการจัดการสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทโบราณสถานรวมทั้งเพื่อให้ทราบถึงข้อบกพร่อง และข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทโบราณสถานจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทโบราณสถานได้นั้น เพราะว่าหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ที่ทำหน้าที่จัดการแต่เพียงฝ่ายเดี่ยว ไม่เปิดโอกาสให้กับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้วยเท่าที่ควร ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญ เนื่องมาจากว่าประชาชนส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และหลักการที่ถูกต้องอนุรักษ์ รวมทั้งขาดจิตสำนึก และความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทโบราณสถาน จึงทำให้การอนุรักษ์คุ้มครองที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรและไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศจากสภาพดังกล่าว ผู้วิจัยจึงได้เสนอแนะให้ปรับปรุง และแก้ไขบทบัญญัติของกฏหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมประเภทโบราณสถาน ให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และเพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวมทั้งต้องเร่งปลูกฝังจิตสำนึก ความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจ และหนักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมประเภทโบราณสถาน ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน