Abstract:
ที่ดินของสภากาชาดไทยภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการใช้พื้นที่อย่างหนาแน่นซึ่งเกิดจากการมิได้มีการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเป็นระบบ และขาดการวางแผนผังแม่บทในการจัดกลุ่มกิจกรรม จึงทำให้การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการขยายงานเกิดข้อจำกัดและเพื่อให้การใช้พื้นที่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรวิเคราะห์และทบทวนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้พื้นที่เพื่อการจัดที่อยู่อาศัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวคิดในการกำหนดนโยบายที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งเสนอแนวทางเลือกเพื่อการจัดที่อยู่อาศัยสำหรับบุคลากรด้านการพยาบาลของสภากาชาดไทยที่เหมาะสม จากการศึกษาสรุปได้ว่า ปัจจุบันการใช้พื้นที่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อการที่อยู่อาศัยให้แก่บุคลากร 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล โดยการจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่เป็นโสด กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มทางด้านการศึกษา หรือเกี่ยวเนื่องจากการศึกษา ได้แก่ แพทย์ นิสิตแพทย์ และนักศึกษาพยาบาล โดยการจัดหอพักเพื่ออยู่อาศัยในระหว่างการศึกษาหรือปฏิบัติงานเพื่อการชดใช้ทุน ซึ่งผลจากกระบวนการวิจัยโดยการสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของสภากาชาดไทยได้แนวคิดในการกำหนดนโยบายว่า การใช้พื้นที่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อการจัดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมและไม่คุ้มมูลค่าของที่ดิน กรอบแนวคิดหรือปรัชญาของการใช้พื้นที่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ควรเป็นการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มมูลค่าของที่ดิน และสอดคล้องต่อพันธกิจของสภากาชาดไทย อันจะยังผลให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และมุ่งเน้นประโยชน์ต่อผู้มารับบริการ คือ ผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงเกิดแนวคิดเชิงนโยบายสำหรับการใช้พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยภายในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยควรใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็นเฉพาะบุคลากรที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ในเวลากลางคืนเท่านั้น โดยจัดที่พักอาศัยให้ชั่วคราว ในลักษณะ "หอเปลี่ยนเวร" แต่ควรมีการจัดสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เคยได้รับสวัสดิการที่อยู่อาศัย ให้ยังคงได้รับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยสวัสดิการที่อยู่อาศัยในอนาคตที่จะจัดให้นั้น อย่างน้อยจะต้องเท่าเทียมหรือดีกว่าในปัจจุบัน จึงมีแนวคิดเชิงนโยบายการจัดที่อยู่อาศัยดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ควรจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัยภายนอกพื้นที่ พร้อมจัดสวัสดิการรถยนต์รับและส่งระหว่างพื้นที่เก่าและพื้นที่ใหม่ ส่วนกลุ่มที่ 2 ควรจัดหอพักภายนอกพื้นที่ พร้อมจัดรถยนต์รับและส่งเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 จากการศึกษาดังกล่าว จึงเกิดข้อเสนอแนะเพื่อการกำหนดนโยบาย ดังนี้ สภากาชาดไทยควรจัดตั้งหน่วยงานปฏิบัติเพื่อนำแนวคิดนี้ไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ โดยการศึกษาเปรียบเทียบโรงพยาบาลอื่นที่มีสถานะใกล้เคียงกัน เพื่อกำหนดทางเลือกในการจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในอนาคต และควรรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมได้เสียเป็นสำคัญรวมทั้งศึกษาทางเลือกในการใช้พื้นที่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนแม่บทการใช้พื้นที่ เช่น การขยายงานด้านการรักษาพยาบาล การศึกษาวิจัย รวมทั้งหารายได้อื่นที่สอดคล้องต่อพันธกิจของสภากาชาดไทย อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดโดยรวมต่อไป