Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบทางกายภาพของเมืองน่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 2) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบของเมืองน่าน 3) เสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของเมืองน่าน ในบริบททางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยต่างๆวิธีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบทางกายภาพของเมือง ดำเนินการโดยวิเคราะห์ลักษณะรูปแบบ รูปร่างของเมือง รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน รูปแบบการคมนาคม และสิ่งปลูกสร้าง พบว่า เมืองน่านในยุคเมืองปัวและเวียงภูเพียงแช่แห้งมีโครงสร้างและองค์ประกอบทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันคือ มีการสร้างเมืองบนพื้นที่สูง รูปร่างของเมืองเป็นรูปวงรีตามลักษณะภูมิประเทศ และมีพระธาตุเจดีย์บนดอยเป็นศูนย์กลางของเมือง อันเป็นรูปแบบของเมืองในวัฒนธรรมของเมืองในลุ่มแม่น้ำกก ต่อมาในยุคเวียงใต้เมืองน่านมีการตั้งเมืองอยู่บนที่ราบลุ่มริมแม่น่าน อันเป็นรูปแบบจากวัฒนธรรมจากทราวดี รูปร่างของเมืองเป็นรูปทรงอิสระ คล้ายวงกมล ในช่วงยุคเวียงใต้นี้ เมืองน่านตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา
ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมล้านนาเข้ามามีบทบาทในเมืองน่าน เห็นได้จาก องค์ประกอบเมืองที่เป็นแบบแผนของล้านนา อันได้แก่ ข่วงเมือง และมิ่งเมือง รวมถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาในวัดสำคัญหลายแห่ง ยุคเวียงดงพระเนตรเมืองน่านได้รับอิทธิพลจากเชียงใหม่ประกอบกับมีวิทยาการที่พัฒนาขึ้นทำให้รูปทรงของเมืองมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมทรงเรขาคณิต ยุคเวียงน่านในช่วง พ.ศ. 2400 เมืองน่านพัฒนาเป็นเมืองที่มีแบบแผนตามคติความเชื่อของเมืองล้านนาอย่างสมบูรณ์ องค์ประกอบภายในเมืองประกอบไปด้วย หอคำ ข่วงเมือง มิ่งเมือง สะดือเมือง พระธาตุใจกลางเมือง รวมถึงวัดสำคัญอีกหลายแห่ง ที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ยุคเทศบาลเมืองน่านเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง เมืองน่านกลายเป็นเมืองที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการปกครองและพาณิชยกรรมของจังหวัด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบทางกายภาพอย่างชัดเจนโดยเฉพาะรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่มีการแบ่งโซนตามชนชั้น เกิดย่านพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ขึ้นภายในตัวเมืองรวมถึงการตั้งถิ่นฐานที่เปลี่ยนจากการตั้งถิ่นฐานแบบกระจุกตัวเป็นการตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางคมนาคม องค์ประกอบบางอย่างของเมืองหมดความสำคัญและถูกรื้อถอนทำลายลง อาทิ กำแพงเมือง ประตูเมือง ป้อมปืนใหญ่ ในขณะที่วัด ข่วงเมือง มิ่งเมือง สะดือเมือง ยังคงอยู่ แต่กำลังถูกคุกคามจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาเมืองน่าน ได้แก่ การกำหนดแผนการอนุรักษ์คุณค่าและเอกลักษณ์ของเมืองน่านให้คงอยู่ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าควบคู่พื้นที่ภายในเขตเมืองเก่าและพื้นที่ต่อเนื่องของเมือง ควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกของคนในเมืองให้ตระหนักถึงความสำคัญขององค์ประกอบของเมืองเก่าอีกด้วย