Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพสังคม เศรษฐกิจ สภาพการอยู่อาศัยและปัญหาการอยู่อาศัยในหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต ใช้วิธีการสำรวจ สังเกต และรวบรวมข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถามนักศึกษา จำนวน 384 ตัวอย่าง โดยแบ่งกลุ่มหอพักเป็น 3 กลุ่ม คือ หอพักของมหาวิทยาลัย หอพักเอกชน (เครือข่ายหอพักมหาวิทยาลัย) และหอพักเอกชน (ไม่ใช่เครือข่ายหอพักมหาวิทยาลัย) ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญแต่ภายใต้อาคารแบบเจาะจง คือ หอพักหญิง หอพักชาย และหอพักผสม นอกจากนี้ยังใช้การสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักงานหอพักมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอแนะการจัดหอพักนักศึกษาต่อไป ผลการวิจัย มีสาระสำคัญคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต ที่พักในหอพัก ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 81.5 ส่วนใหญ่เรียนอยู่คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ชั้นปีที่ 1 รายได้รวมของครอบครัว มีมากกว่า 40,000 บาท/เดือน จากการศึกษารายรับและรายจ่าย พบว่า นักศึกษาหอพักของมหาวิทยาลัยมีรายรับ 7,001-9,000 บาท/เดือน ซึ่งน้อยกว่านักศึกษาหอพักเอกชนที่มีรายรับ 9,001-12,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ยังพบว่า นักศึกษาหอพักของมหาวิทยาลัยเสียค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัย (ค่าหอพัก ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า) คิดเป็นร้อยละ 27 ของรายได้ ซึ่งน้อยกว่าหอพักเอกชนที่เสียค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 50 ของรายได้ อย่างไรก็ตามนักศึกษาหอพักมหาวิทยาลัยใช้จ่ายด้านการอยู่อาศัย (ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าซักผ้า และอื่น ๆ) มากถึงประมาณ ร้อยละ 63 ขณะที่นักศึกษาหอพักเอกชน ใช้จ่ายเพียงประมาณ ร้อยละ 46
ด้านสภาพการอยู่อาศัยในหอพัก พบว่า หอพักของมหาวิทยาลัยแยกเป็นหอชายและหอหญิงชัดเจน มีสิ่งอำนวยความสะดวกและการรักษาความปลอดภัยครบครัน สำหรับหอพักเอกชนส่วนใหญ่มีการอยู่ปะปนกันระหว่างหญิงชาย ไม่ได้มีการแยกอย่างชัดเจน สิ่งอำนวยความสะดวกที่ขึ้นอยู่กับราคาค่าเช่า สำหรับระบบรักษาความปลอดภัย ส่วนใหญ่มีประตู ปิด-เปิด ด้วยการ์ด โทรทัศน์วงจรปิด และบันไดหนีไฟ มีข้อสังเกตคือ หอพักมีการติดตั้งเหล็กตัดบริเวณหน้าต่าง โดยหอพักเอกชนส่วนใหญ่มีสวนหย่อม และสถานที่สำหรับออกกำลังกาย สำหรับการพักอาศัย นักศึกษาส่วนใหญ่พักอาศัย 2 คนต่อห้อง และมีพฤติกรรมการอยู่อาศัยทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยในวันธรรมดาตื่นนอน เวลา ประมาณ 7:00 น.-8:00 น. รับประทานอาหารเช้า เวลา 8:00 น.-9:00 น. และเข้านอนในเวลา 23:00 น.-24:00 น. แต่ในวันหยุด นักศึกษาจะตื่นนอนช้ากว่าในวันธรรมดาประมาณ 1 ชั่วโมง และมักจะไม่รับประทานอาหารเช้า มากถึงร้อยละ 48.2 หอพักนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ใกล้ที่เรียน นักศึกษาจึงสามารถเดินไปเรียนได้ ปัญหาการอยู่อาศัยในหอพัก พบปัญหาที่สำคัญ คือด้านสภาพแวดล้อม ด้านหอพักมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการและด้านการอยู่อาศัย โดยหอพักของมหาวิทยาลัยมีปัญหากลิ่น เสียงดังรบกวนจากภายนอก และบรรยากาศภายในห้องพักไม่เอื้อต่อการเรียน หอพักเอกชนพบปัญหาค่าเช่าสูง มีพื้นที่ทำกิจกรรมน้อย และการมีความสัมพันธ์ทางเพศของนักศึกษา จากสภาพและปัญหาดังกล่าวข้างต้น พบว่าควรมีแนวทางการจัดหอพัก ดังนี้ 1. ปัญหาสภาพแวดล้อมของหอพัก ควรมีมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา เช่นการจัดกิจกรรม 5 ส สำหรับสภาพแวดล้อมภายนอก พบว่าหอพักเอกชนส่วนใหญ่ไม่มีสถานที่พักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น โดยทางหอพักของมหาวิทยาลัยอาจตั้งเป็นเกณฑ์ในการเข้าร่วมเป็นหอพักเครือข่ายหอพักมหาวิทยาลัย 2. ปัญหาจำนวนหอพักมีไม่เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา ซึ่งอาจเป็นผลทำให้หอพักเอกชนมีปัญหาค่าเช่าสูงด้วย โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยรังสิต กำลังมีนโยบายในการจัดหาหอพักให้นักศึกษา อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องพักด้วย เพื่อให้มีบรรยากาศที่ดีในการเรียน 3. ปัญหาการอยู่อาศัย พบปัญหาการมีสัมพันธ์ทางเพศของนักศึกษา เป็นผลมาจากปัญหาการอยู่ปะปนกันระหว่างชายหญิง ซึ่งถึงแม้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ แต่ทางมหาวิทยาลัยควรส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเป็นประจำด้วย โดยเฉพาะในหอพักเอกชน (เครือข่ายหอพักมหาวิทยาลัย)