Abstract:
พระวินัยจัดเป็นปิฎกหนึ่งในปิฎก 3 อันเป็นบทบัญญัติ ที่พระภิกษุ ต้องถือปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งพุทธสถาน ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของการจัดให้มีสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลมานานกว่า 2500 ปี สถาปัตยกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้เสื่อมสลายไปแล้ว คงปรากฎซากฐานอาคารโบราณอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ดามยังคงมีบันทึกลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นหลักฐานในพระวินัยปิฎก ตลอดจนงานศิลปกรรมภาพสลักของพุทธสถาน ในยุคสมัยที่พุทธศาสนามีความรุ่งเรืองโดยเฉพาะสมัยโมริยะ(321-185 ปีก่อนคริสตกาล.) ซึ่งแสดงถึงพุทธประวัติ สภาพแวดล้อมสังคมสมัยพุทธกาล นอกจากนี้ก็ยังมีบันทึกในงานวรรณกรรมต่างๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดและลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยพุทธกาล ตามแนวทางที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของวิทยานิพนธ์นี้ โดยมีขอบเขตของข้อมูลในการศึกษา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงสมัยโมริยะ (544-185 ปี ก่อนคริสตกาล) การศึกษาวิจัยได้ใช้วิธิการค้นคว้าทางเอกสาร โดยการรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับพุทธบัญญัติในพระวินัยปิฎก เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี นำมาเรียบเรียง จัดลำดับ แล้ววิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบ ร่วมกับข้อมูลทางด้านสภาพแวดล้อมและสังคมในสมัยพุทธกาล ในการศึกษาพบว่าในสมัยพุทธกาลแนวความคิดในการจัดให้มีพุทธสถาน เกิดขึ้นเนื่องจากความ ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงมีพุทธานุญาตให้มีสถาปัตยกรรมรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นโดยคำนึงถึงบริบททางสังคมและภูมิลักษณะของที่ตั้งเป็นสำคัญ ด้วยการใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมในท้องถิ่น ไม่ได้สร้างรูปแบบขึ้นใหม่มาเป็นการเฉพาะ มี 5 ชนิด คือ วิหาร, เรือนขั้น เรือนโล้น เรือนมุงแถบเดียว และถ้ำ พร้อมทั้งได้กำหนดองค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ฐาน ประตู หน้าต่าง บันได ซุ้มประตู ราวระเปียง รั้ว การใช้สีและวัสดุ เป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนั้นยังทรงคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยแห่งสถาปัตยกรรมเพื่อให้เกื้อกูลต่อพระภิกษุสงฆ์ในการปฏิบัติธรรม พุทธสถานในระยะแรกในสมัยพุทธกาลจึงประกอบด้วยอาคารเสนาสนะและอาคารสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัยตามพระวินัย ภายหลังสมัยพุทธกาลได้เกิดมีอาคารสำหรับการ สักการบูชาเพิ่มขึ้น ซึ่งลักษณะสถาปัตยกรรมมีความใหญ่โต และมีการตกแต่งประดับประดาในรายละเอียดขององค์ประกอบของสถาปัตยกรรม เช่น ฐานและหัวเสา,หน้าต่าง เป็นต้น ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ลักษณะพุทธสถานพระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้สอดคล้องกับสภาพสังคม ทั้งนี้เพราะต้องไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรือเป็นภาระต่อผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ในการจัดให้มีพุทธสถานนั้น คือเป็นที่กำบังให้เกิดความปลอดภัยจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและภัยอันตรายต่างๆ ช่วยให้การปฏิบัติธรรมดำเนินไปได้โดยสะดวก