Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติสัญชาติในอดีต ว่ามีวิธีคิดและวิธีการให้ความหมายความเป็นพลเมืองอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับบริบททางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องการศึกษาปัญหาในทางปฏิบัติของพระราชบัญญัติสัญชาติ เพื่อพิจารณาว่าพระราชบัญญัติสัญชาติมีผลกระทบต่อผู้อยู่ใต้ปกครองของรัฐอย่างไร โดยวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้อาศัยข้อมูลจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ตลอดจนการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่าสัญชาติไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลตามรูปแบบของการเป็นรัฐสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงอำนาจการปกครองที่มาพร้อมกับพระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การควบคุมคนในสังกัดด้วยการกำหนดความเป็นพลเมืองอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว กรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติยังชี้ให้เห็นว่าจินตนาการของความเป็นชาติในความคิดของพลเมืองที่เกิดจากการมีสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐสามารถใช้อำนาจปกครองเหนือพื้นที่และตัวบุคคลได้อย่างเป็นเอกภาพ