Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาพฤติกรรมที่เสี่ยงภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและระดับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตต่อวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร , ปัจจัยด้านครอลครัว , ปัจจัยด้านกลุ่มเพื่อน , ปัจจัยด้านบุคลิกทางอารมณ์ และปัจจัยด้านลักษณะของพฤติกรรม การใช้อินเทอร์เน็ตกับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ต เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ วัยรุ่นที่มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ต ตามห้องคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงร้านที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ตคาเฟ่) จำนวนทั้งสิ้น 300 คน การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา ใช้ค่าไค-สแควร์ (X²) ในการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีผลต่อ โอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตเพื่อทำการทดสอบสมมติฐาน และใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency), ค่าร้อยละ (Percent), ค่าเฉลี่ย (Mean) เพื่อวัดระดับและเปรียบเทียบพฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตแต่ละลักษณะ กับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตว่า รูปแบบการใช้งานแบบอินเทอร์เน็ตใดจะสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตได้บ้าง ผลการศึกษา พบว่าวัยรุ่นตัวอย่างส่วนใหญ่มีโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับต่ำ จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบว่าจำนวนวัยรุ่นที่ถูกวินิจฉัยว่ามีโอกาสสูงในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ต มีจำนวน 124 คน คิดเป็นร้อยละ 41.33 การทด สอบค่าไค-สแควร์พบว่า เพศ, พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มเพื่อน, ลักษณะทางอารมณ์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต, ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ต และความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ต แต่การดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว, รายได้, ระยะเวลา การใช้อินเทอร์เน็ต และสถานที่ในการใช้อินเทอร์เน็ตไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ต สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ เพศ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดภัยอินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด คือ ลักษณะทางอารมณ์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต