Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้ศึกษาวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ปรัชญาการเมืองในคัมภีร์เต๋าเต๋อจึงด้วยวิธีการตีความ เพื่อแสวงหาความหมายของ ความยุติธรรม ซึ่งผู้ประพันธ์กวีนิพนธ์ได้กล่าวไว้อย่างเป็นรหัสนัย ไม่สามารถให้นิยามได้อย่างตรงไปตรงมา หากแต่เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง ธรรมชาติ มนุษย์ และสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว ผลจากการศึกษาพบว่า ความยุติธรรม ของเหลาจื๊อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ที่มุ่งหมายและให้ความสำคัญต่อเสรีภาพของปัจเจกมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์และเสมอภาค มนุษย์ในสภาวะดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นทั้งผู้ที่มีเหตุผลและความเห็นแก่ตัว คล้ายกับทัศนะของนักทฤษฎีสัญญาประชาคมตะวันตก โดยเหลาจื๊อ มีทัศนคติในแง่ติที่เห็นว่าความเห็นแก่คัวของมนุษย์นั้น คือ ความรักตนเองชนิดประณีต ที่จะทำให้มนุษย์มีความสามารถในการกำหนดตนเองภายใต้เหตุผลบริสุทธิ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมได้ และส่งผลให้สังคมการเมืองของมนุษย์มีความกลมกลืน ภายใต้คุณสมบัติคู่ขนานที่มีความประสานสอดคล้องกับความสงบสุขดั้งเดิมในสภาวะธรรมชาติได้อย่างสมดุลและเป็นเอกภาพ ดังนั้น ความยุติธรรม ตามปรัชญาการเมืองในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง จึงมีความหมายไปในทางที่สนับสนุนให้ปัจเจกมนุษย์ในสภาวะธรรมชาติได้มีเสรีภาพอย่างเข้มแข็ง ทำให้แต่ละจิตใจของมนุษย์มีวิถีหรือหนทางในการแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการแสวงหาความยุติธรรมในสังคมการเมือง คล้ายกับทัศนะของนักคิดทางการเมืองสมัยกรีกโบราณ นอกจากนั้น ปรัชญาการเมืองในคัมภีร์เต๋าเต๋อจึง ยังได้เสนอเงื่อนไขหลักการแห่งความยุติธรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการครอบงำมนุษย์จากกฎ จารีต ประเพณี พิธีกรรม ที่มีอยู่ในอารยธรรมและเป็นอุปสรรคขวางกั้นมิให้มนุษย์เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง