Abstract:
ประเทศไทยได้เปิดเสรีทางการเงินเมื่อปีพ.ศ.2533 โดยรับพันธะข้อ 8 แห่งความตกลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การเปิดเสรีทางการเงินมีผลทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก และเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านการเงินได้อย่างเสรี ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน ซึ่งเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนกระทั่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง แต่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นระบบเดิม จากผลการศึกษาพบว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนต้องมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละช่วงเวลา มิฉะนั้นจะมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ของประเทศ พระราชบัญญัติเงินตรา เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเลือกระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เป็นกฎหมายที่บัญญัติที่กำกับควบคุมดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital movement) โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ใช้กฎหมายทั้งสองฉบับก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยที่บัญญัติอำนาจและหน้าที่ในการปฏิบัติงานไว้ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขในปี พ.ศ.2551 โดยใช้บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เป็นบทเรียนสำคัญ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการดำเนินงานในการใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการเกิดวิกฤตของประเทศในอนาคต