Abstract:
ขั้นตอนสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่กำลังล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต คือการชำระบัญชีโดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายของระบบคุ้มครองเงินฝากและเพื่อสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน ด้วยการจ่ายชดเชยเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินทั้งหลายและดำเนินการชำระบัญชีสถาบันการเงิน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยอำนาจที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 โดยมิได้คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญในด้านประสิทธิภาพ ความรวดเร็วและการดำเนินการชำระบัญชีอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งกระบวนการชำระบัญชีจะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายขั้นสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการและทำให้กองทุนคุ้มครองเงินฝากรับชำระคืนมากที่สุด เพื่อป้องกันกองทุนมิให้ได้รับความเสียหายจากการชำระบัญชีสถาบันการเงิน เป้าหมายในการดำเนินการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจึงไม่เพียงแต่จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของภาครัฐเท่านั้น หากต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของภาคเอกชน ในการบรรลุถึงผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับบรรดาเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินอย่างเท่าเทียมกัน วิทยานิพนธ์นี้ชี้ให้เห็นว่าการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญซึ่งรวมถึงการศึกษาระบบกฎหมายเปรียบเทียบ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจในการแบ่งแยกกองสินทรัพย์ของสถาบันการเงินและแนวคิดของ Bridge bank ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อควบคุมและดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อนที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะสามารถหาผู้ซื้อที่เหมาะสมต่อไป เช่นที่ได้กล่าวมาในข้างต้น ปัญหาการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ควรได้รับการแก้ไขและปรับปรุงให้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผู้ฝากเงินและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ