Abstract:
เพลงทยอยเดี่ยวเป็นเพลง “สุดยอดของเพลงเดี่ยว” เพลงหนึ่งที่พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) “เจ้าแห่งเพลงทยอย” ได้แต่งขึ้นสำหรับเดี่ยวปี่อวดฝีมือโดยเฉพาะ ต่อมาภายหลังคีตาจารย์หลายท่านได้นำมาประดิษฐ์เป็นทางเดี่ยวของเครื่องดนตรีชนิดอื่น สำหรับทาง “จะเข้” นั้น ปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดคิดประดิษฐ์ทำนองขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงคิดที่จะประดิษฐ์ “เพลงทยอยเดี่ยว สำหรับจะเข้” โดยมุ่งที่จะสร้างให้ปรากฎเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่แห่งวงวิชาการดนตรีไทย และนำผลมาศึกษากระบวนการของการสร้างทางเดี่ยวสำหรับกลุ่มเครื่องดนตรีที่ไม่อาจทำเสียงต่อเนื่อง ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้วิจัยได้สร้างกลวิธีในการดีดจะเข้ขึ้นใหม่ ซึ่งปรากฏอยู่ในทางเดี่ยวจะเข้เป็นครั้งแรก ได้แก่ การดีดเสียงควง การดีดควงสาย การสะบัด 3 เสียง โดยข้ามเสียงเป็นคู่ 4 และคู่ 5 และการรัวไม้ดีดด้วยความต่อเนื่อง 2. โครงสร้างของเพลงทยอยเดี่ยวประกอบด้วย “ทำนองโยน” เป็นส่วนใหญ่เป็นโอกาสให้ผู้วิจัยได้คิดประดิษฐ์ พลิกแพลงทำนองโยนนั้นตามลักษณะจำเพาะในกลุ่มเครื่องดนตรีที่ไม่อาจทำเสียงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจะเข้ ซึ่งผู้วิจัยได้นำเทคนิคกลวิธีพิเศษต่างๆของการบรรเลงจะเข้ามาร้อยกรองท่วงทำนองให้ถึงพร้อมความงามและความไพเราะได้อย่างสมบูรณ์ 3.ท่วงทำนองของเพลงทยอยเดี่ยวเป็นเพลงประเภทสองไม้ที่แสดงอารมณ์เศร้าโศกและคร่ำครวญอย่างผิดหวังได้อย่างวิเศษในช่วงทำนองโอดและตอนท้ายจึงเปลี่ยนเป็นทำนองพันระคนครวญแสดงถึงอาการละล้าละลังอัดอั้นตันใจซึ่งทำนองโอดและทำนองพันนั้นมีความแตกต่างจากกันโดยสิ้นเชิง ด้วยมิได้นำทำนองโอดนั้นมาทำเป็นทำนองพันเหมือนเช่นเพลงเดี่ยวอื่นๆ 4.ผู้วิจัยได้สอดแทรกสำนวนจะเข้ที่เป็นบรรทัดฐานของเพลงเดี่ยวต่างๆ ผสมผสานอยู่ด้วยกันหลายสำนวน เช่น เดี่ยวกราวใน เดี่ยวเชิดนอก และเพลงทยอยใน