Abstract:
ศึกษาภาวะจิตสังคมของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross sectional descriptive) โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอายุ 12-15 ปี ที่มารับการรักษาที่คลินิกโรคมะเร็งในเด็ก แผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 จำนวน 12 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการบันทึกเทปใช้แบบสัมภาษณ์ภาวะจิตสังคมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ภาวะจิตสังคมของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอายุ 12-15 ปี ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวข้อง 3 ด้านใหญ่ๆ คือ ด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ด้านร่างกายพบว่าเมื่อผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอันเป็นผลจากโรค และจากการได้รับหัตถการตามแผนการรักษา ทำให้ผู้ป่วยเด็กรู้สึกทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงด้านจิตใจของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย กังวล กลัว สูญเสียภาพลักษณ์ และโอกาสที่จะดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติเหมือนเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ผู้ป่วยเด็กทุกคนต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เมื่อผู้ป่วยเด็กได้รับแรงสนับสนุน กำลังใจ ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว เพื่อน ครู และบุคลากรสุขภาพ ผู้ป่วยจะเกิดกำลังใจที่ดี และสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี มีความคาดหวังที่จะหายจากโรค มีความหวังต่ออนาคตข้างหน้าต่อไป ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวต้องอาศัยองค์ประกอบทางด้านจิตสังคม ที่เกี่ยวข้องเป็นการดูแลแบบผสมผสาน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถเผชิญกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ