Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รูปแบบการสื่อสารของชุมชนตลาดริมน้ำดอนหวายในการจัดการการท่องเที่ยว, บทบาททางการสื่อสารของผู้นำชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวตลาดริมน้ำดอนหวาย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ประกอบด้วย ผู้นำและแกนนำจัดตั้งชุมชน สมาชิกชุมชน และกลุ่มพันธมิตรที่ให้การสนับสนุน จำนวนทั้งสิ้น 23 คน ผลการวิจัยพบว่า 1.รูปแบบการสื่อสารปรากฎขึ้นในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนตลาดริมน้ำดอนหวาย โดยวิเคราะห์จาก 3 สถานการณ์ พบว่า 1.1สถานการณ์กระตุ้นความร่วมมือผู้ประกอบการภายในชุมชน ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ 1) การสื่อสารทางเดียวแบบไม่เป็นทางการ คือ การใช้เสียงตามสาย 2) การสื่อสารสองทางแบบเป็นทางการ คือ การประชุม 3) การสื่อสารสองทางแบบไม่เป็นทางการ คือ การพูดคุยกันโดยตรง 1.2สถานการณ์แก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ 1) การสื่อสารสองทางแบบเป็นทางการ คือ การสั่งการด้วยคำพูด และการประชุมเพื่อตักเตือนสมาชิกชุมชน 2) การสื่อสารสองทางแบบไม่เป็นทางการ คือ การไกล่เกลี่ยด้วยการพูดคุยโดยตรง โดยมีประธานคณะกรรมการชุมขนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย 1.3สถานการณ์การจัดการท่องเที่ยวของชุมชน ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ 1) การสื่อสารสองทางแบบไม่เป็นทางการ คือ การพูดคุยโดยตรงระหว่างคณะกรรมการชุมชนกับสื่อมวลชน 2) การสื่อสารทางเดียวแบบไม่เป็นทางการ คือ การใช้เสียงตามสายเพื่อประชาสัมพันธ์ไปสู่นักท่องเที่ยว 2.บทบาททางการสื่อสารของผู้นำชุมชน ประกอบด้วย 4 บทบาท คือ 1) บทบาททางการสื่อสารเพื่อระดมคนเข้ามารวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการชุมชน 2) บทบาททางการสื่อสารเพื่อระดมความคิดของสมาชิกภายในชุมชน 3) บทบาททางการสื่อสารในการจัดการกับข้อขัดแย้งภายในชุมชน คือ การเป็นตัวกลาง ตักเตือนสั่งให้ทำตาม และสั่งให้ผู้ค้าขายออกไปจากตลาด 4) บทบาททางการสื่อสารในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน