Abstract:
การดำเนินวิจัย ประกอบด้วยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างผลงานเรขศิลป์ในประวัติศาสตร์ และการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ที่ว่าง เพื่อนำไปเป็นหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ผลงานเรขศิลป์ กำหนดการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) หลังจากนั้นนำผลงานที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างมาคัดเลือก โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทาง ด้านการออกแบบเรขศิลป์ 9 ท่าน จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นผู้คัดเลือกผลงาน สรุปได้ผลงานจำนวนทั้งสิ้น 131 ชิ้น จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ที่ว่าง สามารถสรุปวิธีการสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ผลงานเรขศิลป์ได้ 4หัวข้อ ได้แก่ 1. ภาพ และ พื้นภาพ(Figure and Ground) 2.รูปทรง และ กรอบภาพ (Element and Frame of Reference) 3.รูปแบบของที่ว่าง (Type of Space) และ 4. โครงสร้างการจัดองค์ประกอบ (Structure) ผลการวิจัย ได้แนวการใช้ที่ว่างเพื่อสื่อสารบุคลิกภาพทั้งหมด 24 บุคลิก ได้แก่ 1. ทางการ 2. เข้มงวด 3. ประณีต 4. วัฒนธรรม 5. ร่ำรวย 6. ซับซ้อน 7. สง่า หรูหรา 8. สง่างาม อ่อนช้อย 9. ผู้หญิง 10. มีชีวิตชีวา 11. โชติช่วงโลดโผน 12. สะอาด 13. พลวัต 14. เคลื่อนไหว 15. มีพลัง 16. รุนแรง 17. อิสระ 18. รวดเร็ว 19. ปั่นปวนสับสน 20. ใหญ่โดดเด่น 21. เรียบง่าย 22. แข็งแรง 23. กลมกลืน และ 24. เน้นประโยชน์ใช้สอย