Abstract:
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการของครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ (2) สำรวจความต้องการของนักเรียนในการเรียนรู้และการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ (3) สร้างรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์แบบโครงงานเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ กระบวนการทำงานกลุ่มและความตระหนักในการพึ่งตนเองของนักเรียน และ (4) ศึกษาคุณภาพและประสิทธิผลของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์แบบโครงงาน การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ (1) ระยะการวิจัยเชิงสำรวจสภาพปัญหา และความต้องการของครู จำนวน 475 คน และนักเรียน 578 คน (2) ระยะการสร้างและศึกษาคุณภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์แบบโครงงาน (3) ระยะการทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบโครงงานเพื่อศึกษาประสิทธิผล โดยครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา จำนวน 11 คน เป็นผู้จัดกิจกรรมให้แก่กลุ่มตัวอย่างนักเรียนจำนวน 364 คน ผลการวิจัยมีดังนี้ 1) ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์มีความคิดเห็นว่าเป้าหมายและผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สำคัญในการสอนวิชาคณิตศาสตร์คือ เพื่อพัฒนานักเรียนให้สามารถ (1) คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น (2) นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และ (3) คิดคำนวณได้ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในปัจจุบันมีความหลากหลายทั้ง (1) การทำงานกลุ่มเพื่อเรียนรู้แบบร่วมมือ (2) การอธิบาย ยกตัวอย่างบนกระดาน และ (3) การใช้เกม สำหรับด้านการวัดและประเมินผลเน้นการวัด (1) ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน (2) ทักษะการคิดคำนวณ และ (3) ทักษะการแก้โจทย์ปัญหาโดยการใช้แบบทดสอบ การสังเกต ผลงาน แบบฝึกหัด การให้นักเรียนประเมินตนเอง และประเมินความก้าวหน้า ที่ผ่านมาครูรับรู้ว่าจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีความสำเร็จค่อนข้างสูงเพราะมีปัจจัยสำคัญคือ (1) ครูมีความเอาใจใส่ ตั้งใจ ช่วยเหลือและร่วมมือกับนักเรียนอย่างใกล้ชิดและจริงจัง(2) ครูใช้สื่อการสอน และ (3) ครูหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์มีทั้งที่เป็นปัญหานักเรียน ปัญหาครูและการบริหารจัดการคือ นักเรียนแก้โจทย์ปัญหาไม่ได้เพราะอ่านหนังสือไม่ออกและขาดการฝึกฝน ครูยังสอนเน้นเนื้อหามากว่าเน้นผู้เรียนและยังขาดการใช้สื่อ อุปกรณ์และกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจสาระนามธรรมของคณิตศาสตร์ได้ง่าย ทั้งการบริหารจัดการของโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ครูมีภาระงานอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นทำให้เวลาในการวางแผนเตรียมการสอนและสื่อการตรวจงานเพื่อพัฒนานักเรียนและการประเมินเพื่อปรับปรุงพัฒนาการสอนของตนเองลดลง ความต้องการที่สำคัญของครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์คือให้มีการพัฒนาความรู้ ทักษะ และเทคนิคในการสอนให้แก่ครูโดยการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และเพิ่มหนังสือตำราและคู่มือให้ครูได้ศึกษาเข้าใจต้นแบบและพัฒนาตนเอง 2) นักเรียนมีความต้องการเรียนรู้ในเรื่องที่แปลกใหม่ ทั้งที่เป็นความรู้รอบตัว ปรากฏการณ์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี กิจกรรมการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องการมากคือ การทัศนศึกษา การสำรวจชุมชน และการลงมือปฏิบัติ สิ่งที่นักเรียนต้องการให้ครูคณิตศาสตร์ทำมากที่สุดคือ (1) อธิบายให้เข้าใจชัดเจน และสอนวิธีเรียนลัด (2) จัดกิจกรรมสนุกแบบมีสาระ และ (3) ใจดี มีเหตุผลและเป็นกันเองกับนักเรียน 3) รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์แบบโครงงานที่สร้างขึ้นมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้คือ (1) กระบวนการเรียนรู้ (2) กระบวนการทำงานกลุ่ม (3) ความตระหนักในการพึ่งตนเอง กระบวนการจัดกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ (1) วางแผนปฏิบัติการ (2) ดำเนินงานตามแผนฯ และเรียนรู้ขณะปฏิบัติงาน (3) ประเมินผลงานและบทเรียน และ (4) นำเสนอผลงานและบทเรียน ในการดำเนินงาน 4 ระยะนี้ มีกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งหมด 12 กิจกรรม 4) ผลการทดลองใช้พบว่า รูปแบบมีประสิทธิผลคือ ครูทั้ง 11 คนสามารถวางแผนดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียน 364 คน ได้ในเวลา 1 เดือนตามแผนและเกิดผลงานคือ นักเรียนสามารถทำโครงงานตามที่นักเรียนสนใจจนสำเร็จได้จำนวนทั้งสิ้น 74 โครงงาน โครงงานที่นักเรียนทำมี 4 ประเภทคือ การสำรวจ การจัดการ การประดิษฐ์ และการทดลอง ผลการประเมินพัฒนาการของนักเรียนทั้งโดยตนเองและครูพบว่า นักเรียนมีพัฒนาการทั้งด้านกระบวนการเรียนรู้กระบวนการทำงานกลุ่ม ความตระหนักในการพึ่งตนเอง และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และคุณครูทั้ง 11 คน พอใจกับประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและเห็นว่าทำได้ไม่ยาก และนักเรียนสนุกกับการเรียนมีความภาคภูมิใจในผลงานและการทำงานของตนเอง คุณครูพอใจกับประสบการณ์การทำงานที่เป็นระบบเป็นทีม มีเครื่องมือในการวางแผน มีสื่อ มีแบบวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน และการจัดการเรียนการสอนของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงานในวิชาคณิตศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป