Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ กระบวนการใช้สื่อมวลชนของรัฐบาลในการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนในช่วงภาวะวิกฤตโรคไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีก โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลประเภทเอกสารข่าวแจก ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ และผังรายการโทรทัศน์ช่อง 11 แหล่งข้อมูลจากสื่ออินเตอร์เน็ต สื่อเฉพาะกิจ และจากการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสื่อมวลชน โดยแบ่งการนำเสนอข้อมูลที่พบเป็น 5 ระยะด้วยกันคือ 1.) ระยะก่อนการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดอย่างหนัก 2.) ระยะการสืบหาสาเหตุของการเกิดโรคระบาดอย่างหนัก 3.) ระยะการเกิดโรคระบาดติดต่อสู่คนอย่างเฉียบพลัน 4.) ระยะการจัดการกับปฏิกิริยาของสังคม และ 5.) ระยะหลังความสูญเสียจากการเกิดโรคระบาดในสัตว์ปีก ผลการวิจัยพบว่า ในระยะที่ 1-3 รัฐบาลไม่ได้มีกระบวนการใช้การสื่อสาร และการจัดการด้านข่าวสารอย่างเป็นระบบ แต่ได้มีการเผยแพร่ข่าวสารอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามสภาพเหตุการณ์ พร้อมกับกำหนดตัวผู้ให้ข่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางรัฐได้เริ่มมีกระบวนการใช้สื่อมวลชนอย่างเป็นระบบมากขึ้นในระยะที่ 4 และ 5 โดยได้มีการจัดตั้งยุทธศาสตร์ห้องข่าว (War Room) ศูนย์ข่าวไข้หวัดนก ทำเนียบรัฐบาล โดยการกำหนดตัวผู้ให้ข่าว กำหนดเนื้อหาข่าวสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้กลยุทธ์ในการนำความเดือดร้อนของประชาชน และข่าวทางด้านลบมาเป็นตัวตั้งในการตอบปัญหาคลี่คลายปฏิกิริยาของคนในสังคมอีกทั้งยังได้มีการใช้สื่อมวลชนของรัฐเป็นหลักในการเผยแพร่ข่าวสาร โดยกำหนดให้มีความถี่ตามสภาพเหตุการณ์ โดยได้มีการปรับเปลี่ยนผังรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ให้เป็น “สถานี ไข้หวัดนก” 24 ชั่วโมง และใช้สื่อมวลชนอื่นๆเป็นสื่อมวลชนรอง เพื่อเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่สาธารณชน ในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และลดจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตด้วยโรคระบาดดังกล่าว