Abstract:
ขวดเพทที่ใช้แล้ว สามารถนำกลับมารีไซเคิล ด้วยการย่อยสลายทางเคมีโดยการไกลโคไลซ์ในไกลคอลปริมาณมากเกินพอ เช่น เอทิลีนไกลคอล, โพรพิลีนไกลคอล และไดเอทิลีนไกลคอล โดยมีซิงก์อะซีเตตเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ที่อุณหภูมิ 190 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ภายใต้บรรยากาศของก๊าซไนโตรเจน ผลที่ได้จากปฏิกิริยา ส่วนใหญ่จะเป็นบิสไฮดรอกซีเอทิล เทเรฟธาเลท (BHET) ซึ่งเป็นโมโนเมอร์ของเพท และเมื่อนำผลที่ได้นี้ ไปทำปฏิกิริยากับมาเลอิกแอนไฮไดรด์ และผสมกับสไตรีนโมโนเมอร์จะได้พอลิเอสเตอร์เรซินชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งสามารถทำให้แข็งตัว โดยการใช้เมทิลเอทิลคีโตนเปอร์ออกไซด์ (MEKPO) เป็นตัวเริ่มต้นปฏิกิริยา และโคบอลต์ออกโตเอตเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เมื่อเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพและสมบัติเชิงกล ระหว่างพอลิเอสเตอร์เรซินที่สังเคราะห์ได้จากขวดเพทที่ใช้แล้ว กับพอลิเอสเตอร์เรซินที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไ ป พบว่าสมบัติด้านความแข็ง ความทนการดัดโค้ง และจุดอ่อนตัวของเรซินที่สังเคราะห์ได้จะสูงกว่าเรซินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เรซินที่ได้จากขวดเพทที่ใช้แล้ว จึงสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ด้วยกรรมวิธีการหล่อ เช่นเดียวกับพอลิเอสเตอร์เรซินทั่วไป นอกจากนี้ ยังใช้ทำผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาส และหินอ่อนเทียม ได้อีกด้วย