Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาแรงบันดาลใจของคนในชุมชนแออัดคลองเตยที่เข้าร่วมโครงการขยะแห้งแลกต้นไม้และทราบรูปแบบการตัดสินใจยอมรับนวัตกรรม รวมทั้งทราบระดับการยอมรับนวัตกรรมว่าอยู่ในขั้นใด โดยใช้ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพในการเก็บข้อมูลภายใต้กรอบของทฤษฎีสัญลักษณ์เชิงลู่เข้า (Symbolic Convergence Theory) ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการรณรงค์ขยะแห้งแลกต้นไม้จำนวน 4 กลุ่ม และผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการรณรงค์ขยะแห้งแลกต้นไม้ จำนวน 1 กลุ่ม โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มกลุ่มละ 7-8 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นองค์ประกอบที่มีผลให้สถานการณ์การเข้าร่วมโครงการฯ ขยะแห้งแลกต้นไม้ของคนในชุมชนแออัดคลองเตยเกิดการแพร่หลายของจินตสาระ (Fantasy themes) 26 ใจความ (themes) ที่นำไปสู่วิสัยทัศน์ร่วมกัน (Rhetorical vision) ของคนในชุมชน 3 หมวด (visions) 2. กระบวนการตัดสินใจยอมรับนวัตกรรมขยะแห้งแลกต้นไม้เป็นกระบวนการตัดสินใจที่ผ่านการพิจารณาคุณลักษณะทางนวัตกรรมด้านประโยชน์เชิงเทียบ ความเข้ากันได้ ความสลับซับซ้อน และการสังเกตเห็นผลได้มาแล้ว 3. ความชอบต้นไม้ และการเฉลิมฉลองพระชนมายุ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจให้คนในชุมชน 70 ไร่เข้าร่วมโครงการรณรงค์ขยะแห้งแลกต้นไม้ 4. ขั้นตอนการยอมรับนวัตกรรมขยะแห้งแลกต้นไม้ของคนในชุมชนแออัดคลองเตยเป็นการยอมรับนวัตกรรมถึงขั้นทบทวนการนำไปใช้ (Confirmation Stage)