Abstract:
การกระทำความผิดอาญาโดยวาจาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยง่าย ผู้กระทำความผิดอาจกระทำความผิดอีกได้ เนื่องจากสภาพบังคับทางกฎหมายสำหรับความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษที่ไม่สูงประกอบกับศาลมักจะใช้ดุลยพินิจให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เป็นผลให้ผู้กระทำความผิดขาดความเกรงกลัวและไม่เข็ดหลาบ เพื่อศึกษาแนวคิด หลักเกณฑ์ และขอบเขตความรับผิดของความผิดฐานหมิ่นประมาท สภาพบังคับทางกฎหมายและมาตรการที่เหมาะสมกับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตลอดจนศึกษาหาวิธีการเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกหมิ่นประมาท โดยให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดและแก้ไขได้โดยเร็ว วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาถึงลักษณะและขอบเขตของความผิดฐานหมิ่นประมาทสภาพบังคับเกี่ยวกับการกำหนดโทษและมาตรการที่เหมาะสมในต่างประเทศกับการนำมาใช้ต่อผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทย ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขเยียวยาผู้เสียหาย ผลการวิจัยทำให้ทราบว่าการใช้โทษปรับเป็นจำนวนที่สูงสามารถยับยั้งการกระทำความผิดฐานนี้ได้ในแง่ของการข่มขู่ให้ผู้กระทำผิดเข็ดหลาบ นอกจากนี้การใช้มาตรการในมาตรา 56 ก็สามารถนำมาใช้กับผู้กระทำผิดได้โดยการให้ทำงานบริการสังคมหรือการอบรมจิตใจ และการเยียวยาความเสียหายทางแพ่งแบบ Punitive Damages ยังเป็นมาตรการหนึ่งในเชิงลงโทษผู้กระทำผิดให้เกิดความเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำผิดได้อีกทางหนึ่ง