Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการเป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสับสนเฉียบพลันของผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักและความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ ระดับอัลบูมิน ร้อยละของเม็ดเลือดแดงในปริมาตรเลือดทั้งหมด ระดับออกซิเจนในเลือด ความปวด คุณภาพการนอนหลับกับภาวะสับสนเฉียบพลันของผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักจำนวน 100 คน ที่ได้รับการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) จากโรงพยาบาลศูนย์ ภาคใต้ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการเจ็บป่วย แบบประเมินอาการสับสนเฉียบพลัน แบบประเมินความปวด และแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและตรวจสอบความเที่ยงของแบบประเมิน โดยแบบประเมินอาการสับสนเฉียบพลันได้ค่า inter-rater reliability เท่ากับ .80 และแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับได้ค่าสัมประสิทธ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ .87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบ point biserial
ผลการวิจัยพบว่า 1.กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยหนัก 100 คน มีภาวะสับสนเฉียบพลันจำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 20 โดยวันที่เกิดอาการ (onset) คือ 1-3 วันแรกของการอยู่หอผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยมีระยะเวลาการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันเฉลี่ย 2 วัน ( x̅ = 2, SD = 1.38 ) จำนวนวันที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันสูงสุดคือ 5 วัน จำนวนวันที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันต่ำสุดคือ 1 วัน 2.ร้อยละของเม็ดเลือดแดงในปริมาตรเลือดทั้งหมดมีความสัมพันธ์ทางลบกับภาวะสับสนเฉียบพลันของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rb = -.420 ; p< .01 ) 3.ระดับออกซิเจนในเลือดมีความสัมพันธ์ทางลบกับภาวะสับสนเฉียบพลันของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rb = -.321; p< .01 ) 4.คุณภาพการนอนหลับมีความสัมพันธ์ทางบวกกับภาวะสับสนเฉียบพลันของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rb = .442 ; p< .01 ) 5.ส่วนระดับอัลบูมินและความปวดไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะสับสนเฉียบพลันของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก