Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดสองครั้งก่อนและหลังการทดลองเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติก ก่อนและหลังได้รับพฤติกรรมบำบัด 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติก ระหว่างกลุ่มได้รับพฤติกรรมบำบัดกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างคือเด็กออทิสติก อายุ 6-12 ปีและผู้แลหลัก ที่มารับบริการรักษาแผนกผู้ป่วยนอก สถาบันราชานุกูล ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 40 คู่ ได้รับการจับคู่ (matched pair) และการสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง แบ่งกลุ่มทดลอง 20 คนและกลุ่มควบคุม 20 คน กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมพฤติกรรมบำบัดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) คู่มือพฤติกรรมบำบัดต่อพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กออทิสติกสำหรับพยาบาล 2) คู่มือการดูแลเด็กออทิสติกสำหรับผู้ดูแลหลัก 3) แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวเด็กออทิสติก 4) แบบวัดความสามารถการปฏิบัติพฤติกรรมบำบัดในเด็กออทิสติกที่บ้านของผู้ดูแลหลัก 5) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล เครื่องมือทุกฉบับได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และได้ค่าความสอดคล้องจากการสังเกตแบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวเด็กออทิสติกเท่ากับ .80, .85, .86, .90 และ .95 ตามลำดับ ค่าความเที่ยงของแบบวัดความสามารถการปฏิบัติพฤติกรรมบำบัดในเด็กออทิสติกที่บ้านของผู้ดูแลหลัก เท่ากับ 0.71 ผู้วิจัยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ สถิติบรรยาย และ t-test ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกหลังการใช้พฤติกรรมบำบัดต่ำกว่าก่อนได้รับพฤติกรรมบำบัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติก หลังการทดลองในกลุ่มที่ได้รับพฤติกรรมบำบัดน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05