Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มต่อความสามารถในการเผชิญปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก่อนและหลังการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มและเปรียบเทียบความสามารถในการเผชิญปัญหาของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกลุ่มที่ได้รับการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติโดยอาจารย์ประจำชั้นทั้งก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชันมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีปัญหาสุขภาพจิตจำนวน 60 คน และสุ่มเข้าสู่กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 2 ชุด คือ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบแบบวัดความสามารถในการเผชิญปัญหาของนักเรียนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งผู้วิจัยดัดแปลงจากแบบวัดความสามารถในการเผชิญปัญหาของ จารุวรรณ จินดามงคล (2540) แบบวัดนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงของเครื่องมือแล้ว ค่าความเที่ยงของแบบวัด เท่ากับ .90 วิเคราะห์ ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและใช้สถิติทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. ความสามารถในการเผชิญปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกลุ่มทดลองภายหลังการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มสูงกว่าก่อนการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 2. ความสามารถในการเผชิญปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกลุ่มทดลองภายหลังการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05