Abstract:
ฟ้อนบูชาพระธาตุพนมมีกำเนิดเค้าโครงจากตำนานอุรังคนิทาน และปรากฏเป็นการฟ้อนในพิธีแห่กองบุญงานเดือนสาม ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็นการฟ้อนในรูปแบบเพื่อการบันเทิงในงานเทศกาล ซึ่งทำให้ฟ้อนบูชาพระธาตุพนมเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา ความสำคัญวิเคราะห์กระบวนท่าฟ้อน องค์ประกอบนาฎศิลป์ การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์รูปแบบของฟ้อนอีสานในพิธีบูชาองค์พระธาตุพนม ที่ปรากฏในเทศกาลไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม ซึ่งมีชุดฟ้อนทั้งสิ้นจำนวน 7 ชุด คือ 1.ฟ้อนหางนกยูง 2.ฟ้อนภูไท 3.ฟ้อนไทญ้อ 4.ฟ้อนตำนานพระธาตุพนม 5.ฟ้อนศรีโคตรบูร 6.ฟ้อนอีสานบ้านเฮา 7.ฟ้อนขันหมากเบ็ง โดยศึกษาจากแถบบันทึกภาพ ภาพถ่าย การสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเทศกาลไหลเรือไฟ พร้อมทั้งร่วมสังเกตการณ์และปฏิบัติการฟ้อนบูชา ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงฟ้อนบูชาพระธาตุพนม มีพัฒนาการโดยแบ่งตามประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์ออกเป็น 4 เหตุผล ดังนี้ 1 จากตำนานอุรังคธาตุ 2 ฟ้อนในการแห่กองบุญเดือนสาม 3 ฟ้อนบูชาพระบรมสารีริกธาตุ 4 ฟ้อนบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลไหลเรือไฟ ทั้งนี้พัฒนาการฟ้อนบูชาพระธาตุพนมในงานเทศกาลไหลเรือไฟ โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาคือ ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2528 – 2529 เป็นกิจกรรมทดลองของยุวสมาคมนครพนม ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2530 – 2537 เป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดนครพนมและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2538 ปัจจุบัน เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญของงานเทศกาลไหลเรือไฟ นอกจากนั้นยังพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของท่าฟ้อน แต่มีการแข่งขันปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอและองค์ประกอบการฟ้อน ทำให้มีความตระการตาเพิ่มมากขึ้น จากความแตกต่างของชุดฟ้อนในพิธีบูชาพระธาตุพนมส่งผลให้เอกลักษณ์พระธาตุพนมแบ่งออกเป็น 6 ประเภทดังนี้ 1 ท่าฟ้อนที่เลียนแบบจากธรรมชาติ 2.ท่าฟ้อนที่มีการเกี้ยวพาราสี 3 ท่าฟ้อนที่มีการหยิบยืมจากท่าฟ้อนอื่น ๆ 4 ท่าฟ้อนที่มีการปรับปรุงจากท่าฟ้อนเดิม 5 ท่าฟ้อนที่มีการตีบทตามบทประพันธ์ 6 ท่าฟ้อนที่เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์ นาฎศิลป์เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีการสืบสานจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้วิจัยสันนิฐานว่ารูปแบบการนำเสนอการฟ้อนบูชาพระธาตุพนมน่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยเพื่อให้เป็นที่นิยมของผู้ชมหรือผู้ร่วมงานไม่ว่าจะเป็น องค์ประกอบการฟ้อน ซึ่งอาจมีการเพิ่มจำนวนชุดฟ้อนมากขึ้นจากปัจจุบัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่ดับดุลพินิจของคณะกรรมการที่จัดงานในแต่ละปี งานวิจัยฉบับนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานในการบันทึกประวัติศาสตร์การฟ้อนบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่พัฒนามาเป็นการฟ้อนเพื่อการท่องเที่ยว ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอีสานตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม อันเป็นแนวทางในการศึกษาพัฒนาฟ้อนอีสาน ต่อไปในอนาคต