Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เพื่อศึกษาความเป็นมาและพัฒนาการเรือมอันเรหรือการรำกระทบสากของชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมถึงวิเคราะห์รูปแบบการแสดงเรือมอันเรแบบฉบับดั้งเดิม และรูปแบบปัจจุบันในจังหวัดสุรินทร์ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรือมอันเร การสังเกตจากการแสดง จากภาพถ่าย จากวีดีทัศน์ ตลอดจนการฝึกหัดของผู้วิจัยกับผู้เชี่ยวชาญการรำเรือมอันเร จังหวัดสุรินทร์ ผลการวิจัยพบว่า เรือมอันเรมี 2 รูปแบบ คือ เรือมอันเรแบบดั้งเดิม และรูปแบบที่แสดงในปัจจุบันเรือมอันเรแบบดั้งเดิมเป็นการแสดงของชาวบ้านในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสร้างความสนุกสนานเปิดโอกาสให้หญิงชายพบปะกัน แบบปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นลำดับ จนกลายเป็นการแสดงด้วยศิลปินอาชีพที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ มีดนตรีประกอบ และมีการแต่งกายที่สวยงามกว่าแบบดั้งเดิม เรือมอันเรทั้ง 2 รูปแบบ แบ่งการแสดงได้เป็น 3 ลำดับเหมือนกัน คือ การรำรอบสาก การรำเข้าสากและการรำตลกพลิกแพลง ลักษณะของการรำเป็นแบบเฉพาะ ซึ่งพบได้ว่ามีจุดเด่น ดังนี้ เรือมอันเรแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน มีการใช้ศีรษะ ลำตัว มือ เท้า และท่าทางในลักษณะต่าง ๆ โดยผู้รำไม่เน้นการใช้จังหวะเข่า หรือทิ้งนํ้าหนักตัวขณะเคลื่อนไหว เน้นกิริยาแบบธรรมชาติ หากแต่ในการทรงตัวเน้นการโน้มลำตัวไปด้านหน้า และเบี่ยงลำตัวออกด้านข้างขณะเคลื่อนไหว ส่วนเรือมอันเรที่แสดงในปัจจุบัน เน้นการย่อตัว การทิ้งนํ้าหนักตัวลงบนเท้าที่ก้าวพร้อมกับการถ่ายนํ้าหนักตัวจากเท้าหนึ่งไปยังเท้าอีกด้านหนึ่ง เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่เปลี่ยนทิศทาง และสำหรับการรำตลกพลิกแพลงนับเป็นกระบวนท่ารำเฉพาะของเรือมอันเรที่ไม่พบ ในการแสดงประเภทเดียวกันเพราะเป็นการแสดงท่าผาดโผนเสี่ยงอันตราย โดยนำลีลาการฟ้อนรำ คือ การจีบ การตั้งวง การเอียง การบิดลำตัวเข้ามาผสมผสานด้วย เรือมอันเรแบบดั้งเดิมแสดงบนลานในหมู่บ้าน แบบปัจจุบันแสดงบนเวที การแต่งกายคงรูปแบบเครื่องแต่งกายพื้นเมือง แต่แบบปัจจุบันตกแต่งให้ดูวิจิตรกว่าแบบดั้งเดิม สากตำข้าวเป็นอุปกรณ์สำคัญเพียงอย่างเดียว เพื่อให้จังหวะและทำให้เกิดความตื่นเต้นเพื่อให้ผู้แสดงรำเข้าสาก วงเรือมอันเรเป็นวงดนตรีประกอบการแสดงมีเครื่องดนตรี คือ กลองกันตรึม ปี่สะไล ซอกลาง ฉิ่ง ฉาบ กรับ เพลงมี 5 เพลง คือ เพลงคเมาแม เพลงกัจปะกา เพลงจีงมุย เพลงมลบโดง และเพลงจีงปีร์ เรือมอันเรเป็นนาฏศิลป์พื้นบ้านของไทยเชื้อสายเขมรที่มีลักษณะเด่น และยังมีการปรับปรุงอย่างไม่หยุดยั้งการศึกษาของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้น่าจะเป็นแนวทางให้เห็นข้อดี และข้อเสียของการพัฒนาการละเล่นพื้นบ้านมาเป็นการแสดงสำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมรอีกหลายชุดที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป