Abstract:
วัตถุประสงค์สำคัญในการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่สำคัญบางตัว (ได้แก่ ภูมิหลังด้านเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน ความรู้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านภาษาอังกฤษ และช่วงความจำระยะสั้น) กับสัมฤทธธิผลของคะแนนการอ่านภาษาอังกฤษ ของนิสิตวิชาเอกภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังศึกษาในภาคปลาย ปีการศึกษา 2539 จำนวน 130 คน และเพือพิจารณาอิทธิพลของตัวแปรเหล่านี้ที่สามารถร่วมอธิบายความแปรปรวนของคะแนนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเมื่อมีการควบคุมอุณหภูมิหลังของนิสิต รวมถึงพัฒนาดัชนีชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษด้วย เครืองมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบ 3 ชุด ได้แก่ แบบสอบทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ แบบสอบความรู้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านภาษาอังกฤษ แบบสอบวัดช่วงความจำระยะสั้น นอกจากนี้ยังมีแบบวัดภูมิหลังเนื้อหาของเรื่องที่อ่านตามการรับรู้ และแบบสอบถามภูมิหลังของนิสิต การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. คะแนนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ มีความสัมพันธ์กับภูมิหลังด้านเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน ความรู้ทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านภาษาอังกฤษ และช่วงความจำระยะสั้น มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.52, 0.44 และ 0.38 ตามลำดับ ค่าสัมประสิทธิ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 2. จากการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณโดยวิวธี stepwise โดยนำตัวแปรภูมิหลังของนิสิตในด้านสังคม ด้านวิชาการและกิจกรรมเข้าศึกษาร่วมกับตัวแปรต้น พบว่าตัวแปรสำคัญที่ร่วมทำนายความแปรปรวนของคะแนนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษได้ร้อยละ 51.31 ได้แก่ ภูมิหลังด้านเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน ความรู้ทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านภาษาอังกฤษ ช่วงความจำระยะสั้น และโปรแกรมการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแบบวิทยาศาสตร์ จากการวิเคราะห์พบว่าดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงสมัฤทธิผลของทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ ในรูปคะแนนดิบเป็นดังนี้ คะแนนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ = -5.28 + 1.51 (ภูมิหลังด้านเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน)+ 0.18 (ความรู้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับการอ่านภาษาอังกฤษ) + 2.79 (โปรแกรมการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแบบวิทยาศาสตร์) + 0.29 (ช่วงความจำระยะสั้น) 3. งานวิจัยนี้มีหลักฐานทางสถิติพอจะสนับสนุนทฤษฎีการอ่านตามแนวทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ (Interactive Model) กล่าวคือ นอกจากความรู้ในภาษาที่สองแล้ว ผู้อ่านในภาษาที่สองที่แนวโน้มที่จะใช้ภูมิหลังด้านเนื้อหาของเรื่องที่อ่าน ประสบการณ์ส่วนตัวที่สั่งสมรวมอยู่ในตัวผู้อ่านในรูปโครงสร้างความรู้ 9Schema) ความสามารถในการเก็บข้อความที่อ่านในความจำระยะสั้นมาประกอบ เพื่อช่วยให้เข้าใจบทอ่านได้ดีขึ้น