Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิด พิจารณาความเป็นจริงต่อการเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเองของ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โดยมีสมมติฐานการวิจัยคือ หลังการทดลองนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิด พิจารณาความเป็นจริงจะมีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเองสูงกว่า ก่อนเข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มและสูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบ ก่อนและหลังการทดลอง ( Pretest-Posttest Control Group Design ) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ จำนวน 20 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาจากผู้ที่มีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเองต่ำกว่าค่าเฉลี่ย — 1SD และสุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 10 คน กลุ่ม ทดลองได้เข้าร่วมโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริง ทั้งหมด 12 ครั้ง เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ติดต่อกัน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆละ 1.30 - 2 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น ประมาณ 20 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเอง ซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนามาจากแบบสัมภาษณ์การเรียนรู้แบบ มีโครงสร้างของซิมเมอร์แมนและมาร์ติเนส พอนส์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของ ค่าเฉลี่ยของคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเองด้วยวิธีการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า (1) หลังการทดลองนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา แบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงมีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเองสูงกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (2) หลังการทดลองนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา แบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงมีคะแนนการรับรู้ความสามารถของตนในการเรียนรู้การกำกับตนเองสูงกว่าก่อนเข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01