Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของชายไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบผลของปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม ต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรอายุ 0-3 ปี ของชายผู้ให้สัมภาษณ์ การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลบางส่วนจากการ ศึกษาครอบครัวไทย (GFS) โดยเลือกตัวอย่างเฉพาะผู้ให้สัมภาษณ์เพศชายที่มีสถานภาพสมรส กำลังสมรส และมีบุตรอายุระหว่าง 0-3 ปี อย่างน้อย 1 คน ในช่วงที่สัมภาษณ์ ได้ตัวอย่าง 746 คน จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีตารางไขว้ แล้วทดสอบด้วยค่าไควสแควร์ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพล ต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของชายผู้ให้สัมภาษณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ ≤ 0.05 ผลการวิเคราะห์ในระดับ 2 ตัวแปร พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อาชีพของผู้ให้สัมภาษณ์ อาชีพของภรรยา ภาคที่อยู่อาศัย การศึกษา และ การช่วยงานบ้านของชายผู้ให้สัมภาษณ์ ส่วนผลการวิเคราะห์ในระดับ 3 ตัวแปรพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของชายผู้ให้สัมภาษณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุกับเขตที่อยู่อาศัย (เขตเมือง) อาชีพของชายผู้ให้สัมภาษณ์กับระดับการศึกษา (ประถมศึกษา) แบบของครอบครัวกับเขตที่อยู่อาศัย (ชนบท) ทัศนคติต่อบทบาทของชายในครอบครัวกับระดับการศึกษา (ประถมศึกษา) และ การช่วยงานบ้านกับเขตที่อยู่อาศัย (เขตเมือง) เมื่อนำปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมมาวิเคราะห์ในแบบการวิเคราะห์จำแนกพหุ พบว่าอาชีพของภรรยา และการช่วยงานบ้านของผู้ให้สัมภาษณ์ มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของชายผู้ให้สัมภาษณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ≤ 0.05 และ ≤ 0.001 ตามลำดับโดยความสัมพันธ์ ดังกล่าวเป็นไปตามสมมุติฐาน และหลังจากควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอิสระตัวอื่น ๆ รวมทั้งควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอิสระอื่น ๆ พร้อมกับตัวแปรผันร่วม พบว่า ความสามารถในการพยากรณ์การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของทั้งสองตัวแปรลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แสดงว่า อาชีพของภรรยา และการช่วยงานบ้าน ของผู้ให้สัมภาษณ์มีผลโดยตรงต่อการมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรของชายผู้ให้สัมภาษณ์