Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติตามกลยุทธ์ DOTS - แผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติของผู้ให้บริการทางสุขภาพในจังหวัดชลบุรี ทั้งหมดโดยไม่มีการสุ่มตัวอย่าง จำนวน 1805 คน การสำรวจได้ใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองที่ผ่านการทดสอบแล้ว เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง วันที่ 7 มกราคม - 10 มีนาคม 2543 จำนวนผู้ตอบกลับทั้งสิ้น 1508 คน (ร้อยละ 83.5) จำแนกเป็นผู้ปฏิบัติงานควบคุมวัณโรค โดยตรง 209 คนและผู้ไม่ปฏิบัติงานควบคุมวัณโรค 1299 คน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้บริการทางสุขภาพที่ตอบแบบสอบถาม เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (5.4:1) อายุเฉลี่ย 34.95 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปร้อยละ 61.6 ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย ร้อยละ 38.1, 32.7, และ 24.8 ตามลำดับ มีระยะเวลาปฏิบัติราชการเฉลี่ย 12.98 ปี ส่วนใหญ่มีตำแหน่งเป็นพยาบาลร้อยละ 64.2 มีหน้าที่หลักในการให้บริการร้อยละ 79.2 ไม่เคยอบรมงานควบคุมวัณโรคตามแนวทางใหม่ร้อยละ 88.6 ไม่ได้ปฏิบัติงานควบคุมวัณโรคร้อยละ 86.1 ความรู้และเจตคติของผู้ให้บริการทางสุขภาพแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) ตาม เพศ อายุ ระยะเวลาปฏิบัติราชการ ตำแหน่ง การอบรม และการปฏิบัติงานควบคุมวัณโรค ยกเว้นความรู้ไม่แตกต่างกันตามสถานที่ปฏิบัติงานและหน้าที่หลัก ส่วนเจตคติไม่แตกต่างกันตามการศึกษาสถานที่ปฏิบัติงาน และหน้าที่หลัก สำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ไม่ปฏิบัติงานควบคุมวัณโรคโดยตรง มีความรู้และเจตคติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) ทั้งในด้านการค้นหารายป่วยวัณโรคการรักษาผู้ป่วยวัณโรค และการติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานควบคุมวัณโรคมีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) ตามสถานที่ปฏิบัติงานตำแหน่งและหน้าที่หลัก ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าการอบรมไม่มีผลต่อการปฏิบัติงานควบคุมวัณโรคโดยรวมยกเว้นด้านการค้นหารายป่วยวัณโรคเท่านั้น ที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มกิจกรรม การรักษาผู้ป่วยวัณโรค และการติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคไม่แสดงความแตกต่าง ระหว่างผู้ที่ได้รับการอบรมและไม่ได้รับการอบรม แต่หากพิจารณากิจกรรมเฉพาะที่สำคัญ อาทิ การจัดให้ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง (DOTS) การอธิบาย DOTS แก่ผู้ป่วยและพี่เลี้ยงการเยี่ยมบ้านเมื่อผู้ป่วยวัณโรคขาดยากัน 2 วันการจัดทาแบบประเมินผลรายงานการนิเทศงานและการวิเคราะห์ผลเพื่อวางแผนงานควบคุมวัณโรค จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05) ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ DOTS ยังต้องการการเร่งรัดพัฒนา โดยสังเกตได้จากกิจกรรมที่ปฏิบัติน้อยที่สุด 3 อันดับ ซึ่งได้แก่ การนิเทศงานตามกำหนด (ร้อยละ 11.0) การจัดทำแบบประเมินผลรายงานรวดในรอบ 4 เดือน (ร้อยละ 11.5) การบรรจุของยา 1 ซองต่อ 1 วัน (ร้อยละ 19.1) เป็นต้น จากการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า ควรจะเพิ่มพูนความรู้ เจตคติและการปฏิบัติตามกลยุทธ์ DOTS-แผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติของผู้ให้บริการทางสุขภาพในจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานควบคุมวัณโรคโดยตรงซึ่งควรจัดให้มีการอบรมและนิเทศงานอย่างต่อเนื่อง