Abstract:
การศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ ที่มารับบริการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง โดยการสัมภาษณ์หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2542 ถึงเดือนมีนาคม 2543 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุก และปัจจัยด้านประชากรเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยด้านชีวภาพ และความรู้เรื่องโภชนาการและภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ ประชากรตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ครั้งแรกที่โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี จำนวน 835 คน ยืนยันภาวะโลหิตจางโดยผลทางห้องปฏิบัติการ คือ ค่าฮีมาโตคริต โดยใช้เกณฑ์ที่ค่าฮีมาโตคริต น้อยกว่า ร้อยละ 33 จากการศึกษาพบความชุกของภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 32.9 ส่วนใหญ่เป็นภาวะโลหิตจาง ระดับที่ 1 (Hct ร้อยละ 27-32) อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 ปี เชื้อชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ การศึกษาระดับประถมศึกษาใกล้เคียงกับระดับมัธยมศึกษา อาชีพ แม่บ้านรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาท/เดียว อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล อายุครรภ์ในไตรมาสที่ 2 (14-26 สัปดาห์) เป็นการตั้งครรภ์ลำดับที่ 1-2 ไม่เคยมีประวัติการแท้งบุตร หรือทารกปริกำเนิดระยะห่างระหว่างการ ตั้งครรภ์ 1-3 ปี คะแนนความรู้ระดับปานกลาง (12-17 คะแนน) จากการทดสอบทางสถิติพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโลหิตจาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ปัจจัยด้านประชากร เศรษฐกิจและสังคม คือ อายุ p = 2017) รายได้ครอบครัว (p = 0.047) และปัจจัยด้านชีวภาพ คือระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ (p = 0.006) สำหรับปัจจัยด้านความรู้เรื่องโภชนาการและภาวะ โลหิตจาง พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ (p>0.05) จากผลการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยเสนอแนะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ใช้กลวิธีแก้ปัญหาโดยเน้นการให้คำปรึกษา เรื่อง การวางแผนครอบครัว การแต่งงานและมีบุตรเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม การมารับบริการฝากครรภ์ในระยะแรกที่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ให้โภชนศึกษา ให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจาง ทั้งก่อนคลอด ระหว่างคลอด และ หลังคลอด การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การวางแผนครอบครัว และโภชนศึกษาในโรงเรียน ศึกษาสาเหตุของ ภาวะโลหิตจาง และศึกษาเปรียบเทียบความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ