Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยภาระรับผิดชอบ และปัจจัยด้านการทำงานกับความคิดเห็นต่อสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการพลเรือน และเพื่อศึกษาถึงการรักษาพยาบาลและสิทธิเกี่ยวกับสวัสดิการการรักษาพยาบาล รวมทั้งข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับสวัสดิการการรักษาพยาบาล ใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2540 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญในประเทศไทย จำนวน 8,035 คน(ไม่ถ่วงน้ำหนัก) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ค่าสถิติไคสแควร์ ผลการศึกษาที่ได้พบว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ตอบว่าเข้ารับการรักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน คลินิก หรือโพลีคลินิก เหตุผลที่ไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ อันดับแรกคือเสียเวลาในการรอนานเกินไป อันดับสองคือ ไม่สะดวกในการไปในเวลาราชการ และอันดับที่สามคือไม่ได้รับการบริการที่ดี และข้าราชการส่วนใหญ่ตอบว่าสวัสดิการการรักษาพยาบาลยังไม่เหมาะสม ต้องปรับปรุง เหตุผลที่เสนอให้ปรับปรุงอันดับแรกคือ ปรับอัตราการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนไข้นอกของสถานพยาบาลเอกชนให้สูงขึ้น รองลงมาคือ กำหนดวงเงิน สำหรับค่าตรวจสุขภาพของข้าราชการโดยไม่จำกัดสถานพยาบาล ส่วนการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยภาระรับผิดชอบ และปัจจัยด้านการทำงานกับความคิดเห็นต่อสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ตัวแปรสถานภาพสมรส การมีผู้อยู่ในอุปการะ ค่าใช้จ่ายโดยปกติของครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน การมีหนี้สิน และสภาพการอยู่อาศัย เป็นไปตามสมมติฐานที่ได้ทั้งไว้ ความสัมพันธ์ที่ได้ส่วนใหญ่ สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้นตัวแปรสถานภาพสมรส และสถานภาพการทำงานของคู่สมรส และเมื่อนำเพศของข้าราชการมาเป็นตัวแปรคุม ผลการศึกษาที่ได้พบว่า ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ที่แท้จริง ยกเว้นตัวแปรสถานภาพสมรส สถานภาพการทำงานของคู่สมรส สภาพการอยู่อาศัย และอายุราชการ สรุปได้ว่ามีเพียงตัวแปรการมีผู้อยู่ในอุปการะ และการมีหนี้สินเท่านี้นที่เป็นไปตามสมมติฐาน สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และเป็นความสัมพันธ์ที่แท้จริงเมื่อใช้เพศเป็นตัวแปรควบคุม และมีเพียงตัวแปรสถานภาพการทำงานของคู่สมรส เท่านั้นที่ไม่เป็นไปตามสมมติฐานสัมพันธ์กันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05 และเป็นความสัมพันธ์ลวง เมื่อใช้เพศเป็นตัวแปรคุม