Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์วรรณคดีไทยที่ปรากฏการตายของตัวละครเอกจำนวน ๙ เรื่อง ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ขูลูนางอั้ว โคลงอมรา บทละครเรื่องเงาะป่า ตำนานฟ้าแดดสงยาง ผาแดงนางไอ่ พระรถเมรี ลิลิตพระลอ และอลองเจ้าสามลอ โดยมีวัตอุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของวรรณคดีดังกล่าว และเพี่อศึกษาสาเหตุ ความหมายและความสำคัญของการตายของตัวละครเอกที่ปรากฏในวรรณคดีเหล่านั้น ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า วรรณคดีไทยที่ปรากฎการตายของตัวละครเอกส่วนใหญ่มีที่มาจากเรื่องเล่าในท้องถิ่นซึ่งเล่าขานเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งมีลักษณะเป็นนิทานประจำถิ่น โดยมีการนำเอาชื่อของตัวละครหรือเหตุการณ์นเรื่องไปอธิบายถึงที่มาของชื่อสถานที่หรือพืชพรรณในท้องถิ่น นอกจากนี้เนื้อเรื่องของวรรณคดีเหล่านี้ยังมีลักษณะเป็นนิทานชีวิต ซึ่งทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงมาก่อน โดยปรากฏชื่อตัวละครและสถานที่ในเรื่องอย่างชัดเจน และยังมีความสมจริงในแง่ที่ว่า เมื่อตัวละครเอกต้องประสบชะตากรรมจนถึงแก่ชีวิตก็ไม่มีผู้ใดสามารถช่วยชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อประกอบเข้ากับเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความผิดหวังที่เกิดจากความรักซึ่งนำไปสู่ความตายของตัวละครเอกในภายหลัง ทำให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่ประทับใจและถูกผู้คนน่ามาเล่าขานสืบทอดต่อมา ลักษณะการตายของตัวละครเอกมี ๓ ลักษณะ ได้แก่ การตายเพราะจิตใจระทมทุกข์แสนสาหัส การฆ่าตัวตาย และการตายเพราะถูกผู้อื่นฆ่าหรือสั่งให้ฆ่า ส่วนสาเหตุการตายของตัวละครเอกที่สำคัญมี ๒ประการ ได้แก่ สาเหตุสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการขาดความยั้งคิดของตัวละครเอกที่หลงใหลในความงามของตัวละครเอกอีกฝ่ายอย่างขาดสติ และลักลอบได้เสียกัน และสาเหตุที่เกิดจากสังคม คือการที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในการจัดการชีวิตของลูก ทำให้ลูกเกิดความคับข้องใจจากความไม่สมหวังในความรักและนำไปสู่ความตายในเวลาต่อมา ความเชื่อเกี่ยวกับความตายตายในวรรณคดีไทยที่ศึกษามีความสัมพันธ์กับความเชื่อเกี่ยวกับความตายในสังคมไทย ได้แก่ ความเชื่อเรื่องกรรม วิญญาณ ชาติภพ การเวียนว่ายตายเกิด นรกสวรรค์ โชคชะตาและลางสังหรณ์ ความตายที่ปรากฏในวรรณคดีที่ศึกษาไม่ได้มีความหมายเพียงการสิ้นสุดชีวิต แต่ยังหมายถึงการสิ้นสุดของกรรมที่ได้กระทำมา โดยมีเหตุและปัจจัยที่กำหนดมาแล้วอย่างชัดเจน และหมายถึงการผ่านเข้าไปสู่สภาพที่ดีขึ้นและมีความสมหวังภายหลังการตายอีกด้วย ในด้านการสร้างอารมณ์สะเทือนใจจากการตายของตัวละครเอกพบว่าผู้แต่งสร้างอารมณ์สะเทือนใจด้วยการเน้นการคร่ำครวญของตัวละครเอกที่กำลังจะตายและการคร่ำครวญของตัวละครอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการบรรยายฉากการตายของตัวละครเอกให้เห็นภาพอย่างชัดเจน