Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติไว้กระจัดกระจายในเอกเทศสัญญาบรรพ 3 และเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขหลักกฎหมายเกี่ยวกับหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อศึกษากฎหมายของต่างประเทศเกี่ยวกับสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว ปรากฏว่ายังไม่พบหลักกฎหมายที่บัญญัติเช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้น หลักกฎหมายไทยดังกล่าวอาจสันนิษฐานได้ว่า บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีหลักฐานการพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า มีการทำสัญญากันจริงหรือไม่ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากข้อกำหนดเรื่องแบบแห่งนิติกรรมตามมาตรา 152 โดยหลักกฎหมายบัญญัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ไม่เคยมีการปรับปรุงแก้ไข จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาทบทวนสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะ สัญญาประกันภัย เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กำหนดเพียงว่า สัญญาจะมีผลผูกพันต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่จำเป็นต้องลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิด ทำให้หลักกฎหมายนี้ ได้ขยายแหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับหลักฐานการพิสูจน์ให้สอดคล้องกับวิทยาการสมัยใหม่ อันเป็นการผ่อนคลายความเคร่งครัดของหลักกฎหมายดังกล่าว และลักษณะบทบัญญัติของสัญญาซื้อขายตามมาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม ขยายหลักฐานการพิสูจน์ โดยกำหนดวิธีการวางมัดจำชำระหนี้บางส่วน ซึ่งให้คำนึงและน่าวิธีการดำเนินธุรกิจมาบัญญัติไว้เป็นหลักฐานด้วย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ แล้วจึงขอสรุปและเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ 1. สัญญาบางประเภทควรกำหนดแต่เพียงว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ และความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการสมัยใหม่ เช่น สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ 2. ขยายหลักฐานการฟ้องร้อง โดยนำเอาวิธีปฏิบัติธุรกิจของแต่ละสัญญามากำหนดเป็นหลักฐานการพิสูจน์ ด้วย 3. ควรแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับหลักฐานการฟ้องร้องในสัญญาประกันภัย โดยกำหนดให้มีบทยกเว้นหลักมาตรา 867 วรรคแรก 4. พิจารณาแก้ไขจำนวนเงินที่บัญญัติไว้ในสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 456 วรรคสาม และสัญญากู้ยืมเงิน ตามมาตรา 653