Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมอนามัยของสตรีไทยบนพื้นที่สูงที่มีบุตรอายุไม่เกิน 1 ปี ครอบคลุม 3 ประเด็นด้วยกันคือ การฝากครรภ์ การทำคลอด และการดูแลหลังคลอด รวมทั้งเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยด้านอุปสรรคต่อการปฏิบัติที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมอนามัยแม่ของสตรีไทยบนพื้นที่สูง กลุ่มตัวอย่างคือสตรีจำนวน 604 คนที่มีบุตรอายุ 1ปี จากโครงการสำรวจสภาวะสุขภาพประชากรชาวไทยบนพื้นที่สูง ปี พ.ศ. 2540 ของกระทรวงสาธารณสุข ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า สัดส่วนของสตรีไทยบนพื้นที่สูงที่มีการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์มีร้อยละ 46.9 สตรีที่ทำคลอดโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือผดุงครรภ์โบราณที่อบรมแล้วมีร้อยละ 61.7 และมีผู้ที่มีการดูแล หลังคลอดครบตามเกณฑ์ เพียงร้อยละ 28.4 ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้ นับว่าต่ำกว่าเป้าหมายของแผนพัฒนาการสาธารณสุข ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมอนามัยแม่ของสตรีไทยบนพื้นที่สูงกับปัจจัยด้านประชากร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยด้านอุปสรรคต่อการปฏิบัติมีดังนี้ 1. ตัวแปรที่เป็นตัวกำหนดความแตกต่างของพฤติกรรมการฝากครรภ์ของสตรีไทยบนพื้นที่สูงได้แก่ ชาติพันธุ์ การศึกษา อาชีพ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล และระยะทางจากครัวเรือนถึงสถานบริการสาธารณสุข และพบว่าสตรีที่อายุน้อยกว่ามีแนวโน้มว่ามีสัดส่วนของการฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์สูงกว่าสตรีที่มีอายุมากกว่า 2. ตัวแปรที่เป็นตัวกำหนดความแตกต่างของพฤติกรรมการทำคลอดของสตรีไทยบนพื้นที่สูงได้แก่ อายุ ชาติพันธุ์ การศึกษา อาชีพ และสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สำหรับตัวแปรจำนวนสมาชิกในครัวเรือนและระยะทางจากครัวเรือนถึงสถานบริการสาธารณสุขมีทิศทางความสัมพันธ์ไม่เป็นในลักษณะเส้นตรง 3. ตัวแปรที่เป็นตัวกำหนดความแตกต่างของพฤติกรรมการดูแลหลังคลอดของสตรีไทยบนพื้นที่สูงได้แก่ อาชีพ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล และระยะทางจากครัวเรือนถึงสถานบริการสาธารณสุข และพบว่าสตรีชาติพันธุ์ที่พูดภาษามอญ - เขมร (เผ่า ลัวะ ถิ่น และขมุ) มีแนวโน้มว่ามีสัดส่วนของการดูแลหลังคลอดครบตามเกณฑ์สูงกว่าสตรีชาติพันธุกลุ่มอื่น ๆ และสตรีที่ได้เรียนหนังสือมีแนวโน้มว่ามีสัดส่วนของการดูแลหลังคลอดครบตามเกณฑ์สูงกว่าสตรีที่ไม่ได้เรียนหนังสือ นอกจากนี้ยังพบว่าตัวแปรความเพียงพอของรายได้ครัวเรือนมีผลเพียงเล็กน้อยต่อพฤติกรรมอนามัยแม่ของสตรีไทยบนพื้นที่สูง