Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาถึงคุณลักษณะของวิทยากรกระบวนการ 2. ศึกษาถึงกระบวนการสื่อสารและกลยุทธ์ในการสื่อสารกับชาวบ้านของวิทยากรกระบวนการ และ 3. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการสื่อสารกับชาวบ้าน โดยใช้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากวิทยากรกระบวนการ จำนวน 17 คน และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal Interview) จากชาวบ้านที่เคยร่วมงานกับวิทยากรกระบวนการ จำนวน 32 คน ผลการศึกษาพบว่า คุณลักษณะของวิทยากรกระบวนการสามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้านดังนี้ (1) คุณสมบัติด้านการสื่อสารเชิงวัจนะประกอบด้วย (1.1) รู้จริงทั้งงานและชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง และ (1.2) พูดจาภาษาชาวบ้าน (2) คุณสมบัติด้านการสื่อสารเชิงอวัจนะประกอบด้วย (2.1) แต่งกายคล้ายชาวบ้าน (2.2) เสียงดัง ฟังชัด มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง (2.3) สุภาพเรียบร้อย และ (2.4) ร่าเริง ยิ้มแย้ม แจ่มใส กระบวนการสื่อสารของวิทยากรกระบวนการในการสื่อสารกับชาวบ้านแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นแนะนำตัว ขั้นวางแผน และชั้นปฏิบัติงาน กลยุทธ์ในการสื่อสารกับชาวบ้านของวิทยากร กระบวนการคือ (1) สร้างความสัมพันธ์โดยการเยี่ยมเยือน (2) จัดที่นั่งให้ทุกฝ่ายเผชิญหน้ากัน (3) เตรียมสื่อเร้าความสนใจ (4) ใช้ภาษาถิ่นเปิดใจชาวบ้าน (5) ให้โอกาสทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น (6) แบ่งกลุ่มย่อยกระตุ้นการคิดและแสดงออก (7) ใช้แผ่นพลิกบันทึกความคิด (8) ให้รางวัลล่อใจ (9) เล่นเกมแก้เบื่อ (10) ใช้ล่ามสร้างความกระตือรือร้น (11) เพิ่มความเข้าใจด้วยการแสดงสาธิต ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการสื่อสารกับชาวบ้านประกอบไปด้วย 6 ปัจจัยด้วยกันคือ (1) การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างวิทยากรกระบวนการกับชาวบ้าน (2) คุณลักษณะของวิทยากรกระบวนการ (3) ภาษาที่ใช้สร้างความเข้าใจได้อย่างชัดเจน (4) การเลือกเวลาที่เหมาะสมในการทำกิจกรรม (5) คามต้องการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน และ (6) นโยบายรัฐ