Abstract:
วัตถุประสงค์หลักของการศึกษานี้ก็เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล อิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีต่อการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนศึกษาถึงทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานภายในองค์การบริหารส่วนตำบล ประชากรกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดนครปฐม จำนวน 134 คน และประชาชนในเขตจังหวัดนครปฐม จำนวน 350 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติ โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่ามัธยฐาน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า Chi-square และค่า Gamma ตลอดจนการวิเคราะห์ทางสถิติแบบถดถอยเชิงพหุ ผลการศึกษา พบว่า ประชากรกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีอายุเฉลี่ย 45 ปี ระดับการศึกษาสูงสุด คือ ประถมศึกษา มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตำบลที่ตนเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเฉลี่ย 39 ปี มีความเข้าใจดีในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนในองค์การบริหารส่วนตำบลมีลักษณะของการทำงานแบบเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนเป็นประจำ ผู้นำส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในระดับที่ใกล้เคียงกันแต่ค่อนไปทางด้านต่ำ และมีการบริหารงานภายในองค์การบริหารส่วนตำบลแบบประชาธิปไตยในระดับสูง แต่การศึกษาจากประชากรกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่พบว่ามีทัศนคติต่อการบริหารงานภายในองค์การบริหารส่วนตำบลว่าการบริหารงานภายในองค์การบริหารส่วนตำบลมีความเป็นประชาธิปไตยในระดับปานกลาง ผลจากการศึกษา พบว่า ตัวแปรทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล คือ ลักษณะการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการทำงานแบบเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน สำหรับตัวแปรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในตำบลที่ผู้นำท้องถิ่นเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน อายุหรือแม้แต่ระดับการศึกษาก็ไม่พบว่าตัวแปรเหล่านี้มีส่วนสัมพันธ์กับการแปรผันของวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลมีอิทธิพลต่อการบริหารงานภายในองค์การบริหารส่วนตำบล นอกจากนี้ยังพบว่าวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลมีส่วนสัมพันธ์กับการแปรผันในทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการบริหารภายในองค์การบริหารส่วนตำบลไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ