Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกำเนิด การดำรงอยู่และอนาคตของหนังสือทำมือในประเทศไทย พิจารณาปัจจัย แรงจูงใจ ปัจจัยเกื้อหนุน บทบาท รูปแบบ เนื้อหาสื่อและการดำเนินงานของหนังสือทำมือ โดยทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างหนังสือทำมือและการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ผลิตหนังสือทำมือ ได้แก่กลุ่มกากบาท กลุ่มใบไม้ป่า กลุ่มบุ๊คบายแฮนด์ และกลุ่มไทยไรท์เตอร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวารสารศาสตร์แวดวงสื่อสารมวลชน แวดวงวรรณกรรมและผู้ผลิตหนังสือทำมือ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า หนังสือทำมือในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2540 ด้วยปัจจัยที่สำคัญ สองประการคือ ประการแรกคือปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยทางด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ทและสภาพสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป ประการที่สองคือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยด้านความต้องการที่จะเป็นอิสระจากสำนักพิมพ์ และความอยากมีหนังสือเป็นของตนเองและแรงบันดาลใจส่วนบุคคล กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายได้แก่กลุ่มนักเรียนมัธยมนิสิตนักศึกษาและวัยทำงานโดยมีอายุระหว่าง18-30ปี ซึ่งมีความสนใจในงานเชิงวรรณกรรมและมีนิสัยรักการอ่านทั้งนี้รูปแบบหนังสือทำมือที่สำรวจพบได้แก่ นิตยสาร เรื่องสั้น กลอน รวมบทความ เรื่องแปล และนิทาน โดยใช้กระบวนการผลิตที่เรียบง่ายไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวและทำด้วยตนเองทุกขั้นตอนด้วยวิธีการเข้าเล่มหนังสือทำมือและใช้การพิมพ์ง่ายๆ ด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร ช่องทางการดำเนินธุรกิจของหนังสือทำมือที่สำรวจพบได้แก่ การขายตรง การฝากขาย การขายผ่านเว็บไซด์ และ การสมัครสมาชิก หนังสือทำมือมีบทบาทในการเป็นสื่อทางเลือก ในแง่ของการเป็นช่องทางการสื่อสารทางเลือกให้กับนักเขียนที่ไม่มีโอกาสเผยแพร่ผลงานและทำหน้าที่เป็นเพียงช่องทางการสื่อสารทางเลือกสำหรับกลุ่มผู้ที่ ต้องการแสดงออกทางการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่ง แต่หนังสือทำมือไม่สามารถบรรลุหน้าที่ของสื่อทางเสือกในแง่ของการผลิตเนื้อหาที่ตอบสนองให้แก่ผู้อ่านที่ต้องการความหลากหลายในแง่ของการบริโภคเนื้อหาได้รวมทั้งในแง่ของอุดมการณ์ของการเป็นสื่อทางเลือกจากการศึกษาพบว่าการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ผลิตหนังสือทำมือเกิดขึ้นเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์เชิงธุรกิจและเพื่อรอคอยเวลาที่จะกลับเข้าไปสู่ธุรกิจในระบบกระแสหลักมากกว่าที่จะผลิตหนังสือทำมือเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้อ่าน