Abstract:
ไวรัสเด็งกีเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค การตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจหาจีโนมของไวรัสจากเลือดของผู้ป่วยระยะที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด (มีไข้สูง) และยังมีการพัฒนาวิธีการตรวจหาที่มีความไวและรวดเร็วมากขึ้น เช่น Real time RT-PCR ทำให้สามารถตรวจหาจีโนมของไวรัสเด็งกีในปัสสาวะได้ในเวลาต่อมา ดังนั้น ปัสสาวะจึงเป็นตัวอย่างจากผู้ป่วยที่น่าสนใจ และเป็นทางเลือกในการตรวจวินิจฉัย สำหรับผู้ป่วยที่ยากต่อการเจาะเลือดเช่น เด็กเล็ก และผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกอย่างรุนแรง และข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ เก็บง่าย และได้ตัวอย่างครั้งละปริมาณมาก
จากการตรวจหาจีโนมของไวรัสเด็งกีในปัสสาวะได้นั้น ทำให้เกิดคำถามว่า ไวรัสเด็งกีที่หลั่งออกมาพร้อมกับปัสสาวะ จะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า จีโนมที่ตรวจพบได้ในปัสสาวะนั้น มาจากไวรัสเด็งกีที่ยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ เนื่องจากหากปัสสาวะของผู้ป่วยมีไวรัสที่มีชีวิต ปัสสาวะดังกล่าวอาจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อในธรรมชาติได้
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแยกเชื้อไวรัสเด็งกีที่มีชีวิตจากปัสสาวะผู้ป่วย โดยทำการประเมินจากผลการตรวจหาจีโนมและโปรตีนของไวรัสในเนื้อเยื่อยุงลาย และจากเซลล์เพาะเลี้ยง โดยวิธีการแยกเชื้อ จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นปัสสาวะของผู้ป่วยไข้เลือดออกในระยะติดเชื้อเฉียบพลัน จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มทดลอง คือ ปัสสาวะที่มีผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และ ELISA ให้ผลบวก จำนวน 15 ตัวอย่าง ฉีดเข้าสู่ยุงลายและวิธีแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยง C6/36 จำนวน 40 ตัวอย่าง 2. กลุ่มควบคุมคือ ปัสสาวะที่มีผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR และ ELISA รายงานผลลบ อีกส่วนของการทดลองเป็นการศึกษาว่ายุงลายมีพฤติกรรมการดื่มปัสสาวะหรือไม่ โดยศึกษาในปัสสาวะที่มีผล RT-PCR และ ELISA ที่มีผลบวก จำนวน 5 ตัวอย่าง
จากการผลศึกษาพบว่า สามารถตรวจพบจีโนมของไวรัสเด็งกีจากการทำ RT-PCR ในยุงลายคิดเป็น 100% (13/13) และในเซลล์เพาะเลี้ยงคิดเป็นอัตรา 100% (5/5) ตามลำดับ เมื่อทำการตรวจหาโปรตีนของไวรัสเด็งกีในเซลล์เพาะเลี้ยงด้วยวิธี Immunocytochemistry สามารถตรวจพบ 70% (28/70) แต่ไม่สามารถตรวจได้ในเนื้อเยื่อหัวยุงลาย เนื่องจากปัญหาผลบวกปลอม จึงไม่สามารถแปลผลได้ สรุปการแยกเชื้อไวรัสเด็งกีที่มีชีวิตเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ พบว่าการแยกเชื้อในยุงลายโดยการตรวจหาจีโนมของไวรัสเด็งกี มีอัตราสูงกว่าการแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยงจากการตรวจหาโปรตีนของไวรัสเด็งกีอย่างมีนัยสำคัญ (P=0.007 เมื่อกำหนดให้ P < 0.05) และผลจากการให้ยุงดื่มปัสสาวะ ผลการตรวจหาจีโนมของไวรัสเด็งกีในเนื้อเยื่อยุงลาย คือไม่พบไวรัสเด็งกี ทั้งนี้ได้ทำการเทียบผลกับ internal control ให้ผลบวกทุกตัวจากการตรวจหา defensin A ที่เป็นจีโนมของ Aedes aegypti (house keeping gene)
จึงสรุปได้ว่าไวรัสเด็งกีในปัสสาวะของผู้ป่วยอาจจะยังคงมีชีวิตหลงเหลืออยู่ เนื่องจากสามารถทำการเพาะเลี้ยงในยุงลายและเซลล์เพาะเลี้ยงได้ ดังนั้น การตรวจพบการมีชีวิตอยู่ของไวรัสในสารคัดหลั่งเช่น ปัสสาวะ ซึ่งมีโอกาสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่ก่อให้เกิดคำถามหลายประการในทางระบาดวิทยาและพยาธิกำเนิดของโรค ที่ต้องการการศึกษาวิจัยต่อไป