Abstract:
ที่มา ภาวะไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยวิกฤต เป็นภาวะที่เกิดจากการสูญเสียความสามารถทำงานไตอย่างฉับพลันในการขจัดของเสีย นอกจากนี้ยังพบอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น วิธีในการรักษาผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลันรุนแรงที่อยู่ในภาวะวิกฤต คือ การบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่อง ซึ่งการใช้ซิเตรทเฉพาะที่อาจมีผลต่อพยาธิสภาพการทำงานของภูมิคุ้มกัน พร้อมทั้งอาจลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยงานวิจัยนี้ต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านอิมมูโนโลยีในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่ใช้สารซิเตรทเฉพาะที่เป็นสารกันเลือดแข็งตัวในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันรุนแรงที่จำเป็นต้องด้รับการบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่องโดยอาศัยตัวชี้วัดทางชีวภาพ
วัสดุและวิธีการ การวิจัยเชิงทดลองติดตามดูแบบสุ่มและมีกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในผู้ป่วยทั้งหมด 30 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ใช้ซิเตรทเฉพาะที่และกลุ่มที่ไม่ใช้ซิเตรทเฉพาะที่ ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอิมมูโนโลยีโดยใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ คือ CD11b, HLA-DR , C3a, C5a และ PAI-1 ที่เวลาก่อนทำ, ชั่วโมงที่ 6 และชั่วโมงที่ 24
ผลการศึกษา ข้อมูลพื้นฐานทางคลินิคไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสาเหตุส่วนใหญ่พบจากการติดเชื้อ เมื่อตรวจวัดระดับตัวชี้วัดทางชีวภาพ โดยเปรียบเทียบร้อยละการเปลี่ยนแปลงระหว่าง 2 กลุ่ม พบการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในชั่วโมงที่ 24 คือ CD11b, HLA-DR และ PAI-1 ส่วน C3a และ c5a พบแนวโน้มลดลงทั้ง 2 กลุ่มแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป การใช้ซิเตรทเป็นสารกันเลือดแข็งตัวในการบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่อง แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านอิมมูโนโลยีไปในมางที่ดีผลดีต่อภาวะไตวายเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อและสามารถลดการอักเสบในร่างกาย