Abstract:
การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการกระตุ้นพฤติกรรมที่มีต่อภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ดำเนินการวิจัยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จำนวน 2 แห่ง จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย โดยสุ่มให้ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรม (กลุ่มทดลอง) และได้รับการดูแลแบบปกติ (กลุ่มควบคุม) รพ.สต.แต่ละแห่งสุ่มเลือกผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์แห่งละ 41 คน เข้าร่วมการวิจัย การกระตุ้นพฤติกรรมประกอบด้วย (1) การลงตารางกิจกรรม (2) การติดตามกิจกรรม (3) การปรับกิจกรรมรวมถึงการติดตามจำนวนก้าวเดินในแต่ละวัน วิเคราะห์ผลลัพธ์เดือนที่ 0, 3, 6 และ 9 ด้วยสถิติ Generalized Estimating Equations (GEE), และ Generalized Mixed Model
ผลการศึกษาตลอดระยะเวลา 9 เดือน พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยภาวะซึมเศร้า [-2.42 คะแนน (95%CI:
-3.84, -1.00)] (ขนาดผลการทดลอง Cohen’s d = 1.12, 1.00, และ 0.74 ตามลำดับ), ค่าเฉลี่ยภาวะสุขภาพจิตด้านซึมเศร้า และด้านความเครียด [-1.47 และ -1.87 คะแนน (95%CI: -2.43, -0.50 และ -2.94, -0.79 ตามลำดับ)] ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนด้านวิตกกังวลลดลงเพียงแค่ 6 เดือน [-0.87 คะแนน (95%CI: -1.52, -0.23)] จำนวนก้าวเดินเฉลี่ยต่อวันของกลุ่มทดลอง (2,595 ก้าว) เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (1,816 ก้าว) ไม่แตกต่างกัน ค่าเฉลี่ยความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ (HRV) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SDNN) [8.00 ms (95%CI: 1.51, 14.49)] และค่าช่วงคลื่นความถี่สูง (HF) [0.59 ms2 (95%CI: 0.16, 1.03)] เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนค่าช่วงคลื่นความถี่ต่ำ (LF) เพิ่มขึ้น [0.36 ms2 (95% CI:
-0.04, 0.77)] และค่าอัตราส่วนช่วงความถี่ต่ำ/ความถี่สูง (LF/HF) ลดลง [-0.02 ms2 (95% CI: -0.08, 0.04)] ไม่แตกต่างกัน การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการกระตุ้นพฤติกรรมในการลดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ การศึกษาในอนาคตควรนำกิจกรรมไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายอื่น และศึกษาการประเมินผลในระยะยาวต่อไป