Abstract:
แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจเมื่อเกิดอาการเสพติดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาของภาวะการติดการออกกำลังกายมากนักในสังคมไทย ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีความสนใจศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะการเสพติดการออกกำลังกาย ภาวะข้อเข่า และสุขภาวะทางจิต
การวิจัยครั้งนี้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ใช้บริการของศูนย์ออกกำลังกายแห่งจุฬาลงกรณ์ ผู้วิจัยทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 386 คน โดยใช้แบบประเมินภาวะการติดการออกกำลังกาย (Exercise Addiction Inventory; EAI) แบบสอบถามประเมินข้อเข่า (Knee and Osteoarthritis Outcome Score; KOOS) และแบบสอบถามสุขภาวะทางจิต (The Questionnaire for Eudaimonic Well-Being; QEWB) จากการวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะการติดการออกกำลังกายต่อสุขภาวะทางจิตและอาการของภาวะข้อเข่า นอกจากนี้ใช้การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นหลายตัวแปร เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกาย สุขภาวะทางจิต และภาวะอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
จากการศึกษา พบภาวะการติดการออกกำลังกายร้อยละ 9.1 ภาวะข้อเข่าในช่วงคะแนน 76-100 ตามด้านดังนี้ ด้านอาการ ร้อยละ 75.9 ด้านอาการปวด 90.4 ด้านกิจวัตรประจำวัน 94.6 ด้านการเคลื่อนไหวในการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมอื่น ๆ 75.9 และด้านคุณภาพชีวิต 69.2 และส่วนใหญ่สุขภาวะทางจิตดีในระดับปานกลาง ร้อยละ 75.4 ของกลุ่มตัวอย่าง และจากการวิเคราะห์ทำนายโอกาสเกิดภาวะการติดการออกกำลังกายโดยใช้สถิติ Logistic regression พบว่า ตัวแปรที่สามารถทำนายการเกิดภาวะการติดการออกกำลังกาย คือ เพศชาย โดยมีแนวโน้มการเกิดภาวะการติดการออกกำลังกายมากกว่าเพศหญิง เป็น 2.65 เท่า (p<0.05)
การศึกษาเชิงปริมาณนี้ พบว่า การเสพติดการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับความถี่และการใช้เวลาในการออกกำลังกาย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างที่รักษาสุขภาพ มักหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานและดื่มน้ำเปล่าแทน รวมถึงค่า BMI ได้รับผลกระทบจากภาวะการติดการออกกำลังกายด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาในอนาคต ควรศึกษาถึงความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะการติดการออกกำลังกาย และอธิบายความสัมพันธ์เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะในกลุ่มของประชากรไทย