Abstract:
โรคใหลตายเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้ยาก โดยโรคนี้เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นอย่างกะทันหันได้ ซึ่งผู้ป่วยไม่เคยมีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ ลักษณะอาการทางคลินิกที่พบ คือ ไม่เคยมีอาการแสดงของโรคมาก่อน, เคยมีประวัติเป็นลมหมดสติ, เคยมีประวัติหายใจเฮือก ๆ ขณะนอนหลับและภาวะหัวใจหยุดเต้นอย่างเฉียบพลันหรือเสียชีวิตอย่างกะทันหัน โรคใหลตายมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเนื่องจากผู้ป่วยโรคใหลตายต้องเข้ารับการตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ : การศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคใหลตายที่ยังมีชีวิตอยู่ วิธีการวิจัย : ผู้ป่วยโรคใหลตายจำนวน 29 คนที่เข้ารับบริการในเดือน สิงหาคม พ.ศ.2562 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2563 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยทำการเก็บข้อมูลทั่วไป, แบบสอบถามเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต โดยใช้แบบสอบถาม MacNew และ SF-36, แบบสอบถาม HADS ฉบับภาษาไทยและแบบทดสอบภาวะการรู้คิด คือ Grooved Pegboard, Trail A-B และ CERAD การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การวิเคราะห์แบบพรรณณาและการวิเคราะห์สถิติถดถอยเชิงเส้น ผลการวิจัย : ผู้ป่วยโรคใหลตายเป็นเพศชายร้อยละ 96.60 อายุเฉลี่ย 45.17±13.83 ปี, คะแนนเฉลี่ยโดยรวมแบบสอบถาม MacNew 5.62±0.75 คะแนน, แบบสอบถาม SF-36 ด้านร่างกาย คะแนนเฉลี่ย 49.84±6.42 คะแนนและด้านจิตใจคะแนนเฉลี่ย 52.90±6.31 คะแนน, คะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลและความซึมเศร้า คือ 4.41±2.92 และ 3.34±3.30 คะแนนตามลำดับ, การทดสอบภาวะการรู้คิดมี 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง การทดสอบ Grooved Pegboard มือข้างที่ถนัดและมือข้างที่ไม่ถนัด ใช้เวลาเฉลี่ย 78.41±27.87 วินาทีและ 84.52±25.97 วินาที ส่วนที่สอง การทดสอบ Trail A และ B ใช้เวลาเฉลี่ย 53.69 ± 20.65 และ 181.00 ± 80.91 วินาที ในส่วนสุดท้าย การทดสอบ the Word List Memory, Word List Recall และ Word List Recognition คำที่จำได้เฉลี่ย 21.03 ± 4.35, 7.21 ± 2.62 และ 9.55 ± 0.95 คำตามลำดับ การอภิปรายผล ผู้ป่วยโรคใหลตายส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง ซึ่งสูงกว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจอื่นแต่ผลคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคุณภาพชีวิตของประชากรไทยที่มีสุขภาพดี จากการวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ พบว่า มีเพียง ความวิตกกังวล เท่านั้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุป ผู้ป่วยโรคใหลตายส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง และพบอีกว่า ความวิตกกังวลเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคใหลตาย